หน้าแรก ผู้คนและชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ

อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi), โอรังละอุต (Orang Laut)

กลุ่มหมู่เกาะตะวันตก (Western Archipelago) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันในประเทศไทยพบกระจายอยู่ตามหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต

Nuengruethai Wongsuppharerk
336

จาไฮ (Jahai), โอรังอัสลี (Orang Asli)

คาบสมุทรมลายู ในประเทศไทยพบตั้งถิ่นฐานลึกเข้าไปบริเวณตอนในของแผ่นดิน (Inland) บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรีของทางภาคใต้

Nuengruethai Wongsuppharerk
1,019

ญัฮกุร

กระจายตัวอยู่ตามแนวเทือกเขาวงโค้งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก เทือกเขาสันกำแพง แต่เกือบทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวเทือกเขาพังเหย อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ยังพบในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเพชรบูรณ์

Thundorn Kulkliang
1,232

กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)

พื้นที่ป่าเขาในบริเวณทิศตะวันตกของประเทศไทย หรือชายแดนไทย-พม่า บางส่วนอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบในทางทิศตะวันออก

Admin Consult
8,274

Showing 1 to 4 of 4 entries



แสดง 1 ถึง 4 จาก 4 รายการ

อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi), โอรังละอุต (Orang Laut)
 
ประวัติศาสตร์ของรัฐชายฝั่งหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นหมู่เกาะมักกล่าวถึงโอรังละอุต (Orang Laut) กลุ่มชนชาวทะเล ผู้มีบทบาทสำคัญในการลาดตระเวนทางทะเล ปกป้องชายฝั่ง และทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการจัดตั้งและพัฒนาท่าการค้าระหว่างเมือง  พร้อมกันนั้นพวกเขายังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดส่งทรัพยากรทางทะเล เช่น กระดองเต่า ปะการัง สาหร่าย เปลือกหอย และสินค้าอื่น ๆ ไปสู่ตลาด   ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงรัฐการค้าโบราณต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ (Andaya, 2015: 29)   พื้นที่หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Island Southeast Asia) มีกลุ่มคนผู้มีวิถีเคลื่อนย้ายตามท้องทะเล พวกเขาได้รับขนาดนามกันว่า “ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเล กลุ่มชนทางทะเล หรือยิปซีทะเล” (sea nomads, sea people or sea gypsies) (Sopher 1977 อ้างถึงใน Stacey, 2007: 7) โดยสามารถแบ่งตามภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างกว้าง ๆ  ประกอบด้วย มอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen), โอรังละอุต (Orang Laut) และซามา บาจาว (Sama Bajau)  (Sather, 2006: 256)   กลุ่มโอรังละอุต (Orang Laut)  มอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) พบตั้งถิ่นฐานบริเวณกลุ่มหมู่เกาะด้านตะวันตก (Western Archipelago) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า โอรังละอุต (โอรังแปลว่า คน ละอุตแปลว่า ทะเล)  เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชุมชนชาวทะเลและชุมชนชายฝั่งที่อาศัยอยู่ตามช่องทางเข้าออกทางตอนเหนือและตอนใต้ของช่องแคบมะละกา บริเวณลุ่มน้ำตอนล่างและปากแม่น้ำสายสำคัญในสุมาตรา คาบสมุทรมลายู รวมถึงหมู่เกาะ Riau-Lingga และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้  ส่วนมอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) เป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกัน พวกเขาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและหมู่เกาะทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรพม่าและไทย (Andaya, 2008: 173-174)    อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi) เป็นกลุ่มย่อยทางตอนเหนือของโอรังละอุต (Orang Laut) พบอาศัยอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งตั้งแต่ภูเก็ตไปจนถึงกลุ่มเกาะอาดัง และตามแนวขอบด้านใต้ของเทือกเขาที่กลุ่มมอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) กระจายตัว (Hogan 1989: 1-2 อ้างถึงใน Sather, 2006: 256) ส่วนซามา บาจาว (Sama Bajau) พบตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะด้านตะวันออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Eastern Archipelago) ปัจจุบันพบตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ (Andaya, Barbara Watson and Andaya, 2015)   ภาษาของกลุ่มชาวทะเลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ภาษาอูรักลาโวยจ์ และภาษามอแกน พวกเขาไม่มีภาษาเขียน วิถีชีวิตดั้งเดิมมักล่องเรือเคลื่อนย้ายไปมา โดยตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งทะเลเฉพาะช่วงฤดูมรสุม และย้ายถิ่นหากินไปอาศัยชั่วคราวบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ตามฤดูกาล แล้วหวนกลับถิ่นเดิมในฤดูกาลเดียวกันของทุกปี บางครั้งเมื่อหวนกลับมายังถิ่นเดิมปรากฏว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามาครอบครองจึงต้องหาแหล่งใหม่ บางครั้งต้องอพยพเพราะถูกคนต่างกลุ่มรุกราน (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532: 18, 21, 23)   จากบันทึกทางประวัติศาสตร์พบบทบาทของโอรังละอุตในแง่มุมต่าง ๆ บางแง่มุมได้รับตำแหน่งเกียรติยศ การเข้าถึงสินค้า และการแต่งงานกับราชวงศ์ สามารถดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น Laksamana (พลเรือเอก) ในมะละกา อย่างไรก็ตามบางแง่มุมก็พบว่ามักถูกรุกรานจากกลุ่มชนอื่น เกิดความหวาดกลัวจนต้องอพยพเคลื่อนย้าย ซึ่งแม้จะให้ภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกัน แต่โอรังละอุตมีกลุ่มย่อยจำนวนมาก และมีเพียงส่วนน้อยที่ติดตามเจ้าผู้ปกครอง ในขณะที่กลุ่มโอรังละอุตส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตล่องเรืออย่างอิสระในทะเล (Barnard, 2007: 38)   มีตำนานอูรักลาโวยจ์หลายเรื่องที่กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มชนชาวทะเลที่อพยพมาสู่น่านน้ำไทย ตำนานหนึ่งของชาวอูรักลาโวยจ์ระบุว่าบ้านเกิดของพวกเขาอยู่ที่เกาะลังกาวี ขณะที่อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงต้นกำเนิดของพวกเขาแถบภูเขาฆูนุงฌึรัย (Gunung Jerai) หรือยอดเขาเคดะห์ (Kedah) การอพยพย้ายถิ่นของพวกเขามักถูกอธิบายว่า “พวกเขาหวาดกลัวจากภายคุกคามต่าง ๆ” จึงได้อพยพเคลื่อนย้าย การมีอยู่ของตำนานที่เชื่อมโยงอูรักลาโวยจ์กับเคดะห์ อาจเกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคต้นระหว่างกลุ่มชนทะเลนี้กับผู้คนในเคดะห์ โดยฆูนุงฌึรัย เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองเห็นได้ง่ายสำหรับนักเดินเรือในยุคต้น เมื่อพวกเขาเดินทางมายังชายฝั่งด้านตะวันตกของคอคอดกระหรือคาบสมุทรมลายูตอนเหนือ บันทึกจากประวัติศาสตร์ยุคแรกเรียกชายฝั่งนี้ว่า Kalah (ภาษาอาหรับ) Kataha (สันสกฤต) และ Kadaram (ทมิฬ) ซึ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ในอดีต ท่าเรือต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐเคดะห์ เคยเป็นจุดแวะพักของนักเดินทางจากตะวันตก พวกเขามาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าก่อนเดินทางกลับ หรือเพื่อจัดหาเสบียงสำหรับเดินทางต่อ (Andaya, 2008: 174)   บันทึกแรกสุดของตะวันตกเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ คือบันทึก  Suma Oriental  โดย Tome Pires ศตวรรษที่ 16 ในช่วงโปรตุเกสปกครองมะละกา เขาเรียกกลุ่มชาวทะเลบริเวณช่องแคบว่า “Celates” เป็นกลุ่มโจรสลัดที่ออกปล้นสะดมและภักดีต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองมะละกา  ในบันทึกของชาวตะวันตกผ่านกลุ่มชาวโปรตุเกสยังได้อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ปกครองกับโอรังละอุตไว้ว่า มีลักษณะในเชิงอุปถัมภ์และการเป็นคู่ค้า (patron-client) ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ก่อนมะละกา อย่าง Palembang จากอาณาจักรศรีวิชัย บันทึกประวัติศาสตร์ของมะละกาในศตวรรษที่ 16  “the Sejarah Melayu” ได้บันทึกถึงเจ้าชายพลัดถิ่นจาก Palembang นาม Paramesvara ผู้ได้อพยพมาตั้งเมืองที่มะละกา พร้อมกับผู้ติดตามชาวโอรังละอุต  เรื่องเล่าดังกล่าวได้สะท้อนถึงความภักดีของโอรังละอุตต่อเจ้าผู้ปกครอง และบทบาทสำคัญในการพัฒนารัฐการค้า (Barnard, 2007: 35-37) ในขณะที่บริเวณภาคใต้ของไทย พบบันทึกการตั้งถิ่นฐานของโอรังละอุต ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของกวีจากราชสำนักไทรบุรีในศึกกู้เมืองถลาง (Ujung Salang, พ.ศ. 2351 – พ.ศ. 2354)  มีการกล่าวยกย่องกลุ่มชนทางทะเลพื้นเมือง ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ในความสามารถและความกล้าหาญช่วยราชสำนักสยามและไทรบุรีต่อต้านการโจมตีจากพม่าได้สำเร็จ (Andaya, 2015: 292; รัตติยา สาและ, 2561)
จาไฮ (Jahai), โอรังอัสลี (Orang Asli)
 
โอรังอัสลี (Orang Asli) ถือเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คาบสมุทรมลายู คำว่า “โอรังอัสลี” ในภาษามลายูแปลว่า “คนดั้งเดิม” (โอรัง แปลว่า คน และ อัสลี แปลว่า ดั้งเดิม) ถือเป็นคำเรียกที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศมาเลเซียคำนี้เป็นคำเรียกโดยรวมกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองทุกกลุ่ม ทั้งนี้มีชื่อเฉพาะเรียกกลุ่มโอรังอัสลีผู้พูดภาษาออสโตรเอเชียติก ที่มีถิ่นที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสกันว่า “จาไฮ” (the Jahai) ในขณะที่กลุ่มซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา  และสตูล จะเรียกกันว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” (the Maniq) ทั้งสองกลุ่มนี้ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนในของแผ่นดิน (inland) บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรีและเทือกเขาบรรทัด ดำรงชีวิตมาอย่างยาวนานในป่าเขาทางภาคใต้ของประเทศไทย (นฤมล ขุนวีช่วย, 2568: ออนไลน์)   สังคมไทยคุ้นเคยเรียกชาติพันธุ์กลุ่มนี้ว่า “เงาะป่า” หรือ “ซาไก” มีความทรงจำและบันทึกเรื่องราวของพวกเขา โดยเฉพาะผ่าน  “คนัง” มหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงรับเลี้ยงมาจากทางภาคใต้  เรื่องราวของเขากลายเป็นบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ เด็กชายผิวคล้ำดำ หัวหยิกขด ไม่แต่งตัวใส่เสื้อผ้า เป็นคนป่าอยู่ห่างไกลผู้กินอยู่ไม่เข้าใจขนบเมืองกรุง ต่างรูปต่างภาษาซึ่งผู้คนในเมืองไม่เคยพบเห็น  (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2567: ออนไลน์; โรม บุญนาค, 2568: ออนไลน์) คนังจึงประหนึ่งคนที่ทั้งเข้าไปและออกมาจากวรรณคดีเรื่อง “เงาะป่า” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งกลายเป็นภาพจำของชาติพันธุ์กลุ่มนี้มาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้สังคมไทยพอคุ้นเคยเรื่องราวของชาติพันธุ์กลุ่มนี้ผ่านนิทานพื้นบ้านต่างๆ  เช่น “เจ้าเงาะ” ในเรื่องสังข์ทอง ตัวเอกผู้มีท่าทางตลกขบขัน ถูกมองว่าบ้าใบ้ไม่รู้ความและชอบดอกไม้สีแดง อย่างไรก็ตามบางภาพจำเป็นมายาคติและเหมารวม จากการขาดความเข้าใจและการเห็นใจความแตกต่างของกลุ่มคนอื่น  อีกทั้งย่างก้าวของชาติพันธุ์กลุ่มนี้ในปัจจุบันหลายๆ ด้านแตกต่างจากภาพจำเหล่านั้น  จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่กำลังรอให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจอัตลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน   ทั้งนี้การเรียก “เงาะ” หรือ “ซาไก” ปัจจุบันนี้ในแง่วิชาการไม่นิยมเรียกกันเช่นนี้แล้ว เนื่องจากมีความเห็นว่าสร้างการรับรู้ในแง่ลบ สื่อถึงการเป็นทาสหรือการล้อเลียนตลกขบขัน และพวกเขาเองไม่ได้นิยามตัวเองเช่นนั้น นักวิชาการรุ่นอาณานิคมเรียกชาวโอรังอัสลีหลายๆ กลุ่มว่าชาวนิกริโต (Negrito) ในขณะที่ชาวมาเลย์เรียกชื่อพวกเขารวมๆ ว่า “เซมัง” (the Semang) ในกลุ่มเหล่านี้นอกจากจะมีชาวจาไฮอยู่ด้วยแล้ว ยังมีกลุ่มชนอื่น เช่น Bateq,  Kensiu, Kintak,  Lanoh, Mendriq (Porath, 2010: 267 อ้างถึงใน บัณฑิต ไกลวิจิตร, 2564: 58-59) ทั้งนี้คำเรียกต่างๆ มักเป็นสิ่งที่ผู้อื่นตั้งให้พวกเขา      กลุ่มจาไฮใช้ชีวิตส่วนใหญ่แบบย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ มีการข้ามแดนไปมาตามผืนป่าระหว่างชายแดนไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีระบบนิเวศเป็นป่าดิบชื้นเขตร้อน (tropical rain forest) พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันคืออุทยานแห่งชาติบางลางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส และอุทยานแห่งชาติเบอลุม ประเทศมาเลเซีย ป่าดังกล่าวถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (บัณฑิต ไกลวิจิตร, 2564: 53, 75)   วิถีดั้งเดิมของพวกเขาคือ “กินอยู่กับธรรมชาติ” ขุดหาอาหารจำพวกเผือกและมันชนิดต่างๆ และล่าสัตว์ขนาดเล็ก ชีวิตในป่าไม่ได้ตั้งถิ่นฐานถาวร ได้ย้ายถิ่นฐานตามสัตว์และพืชผลในป่าไปเรื่อยๆ ตามความอุดมสมบูรณ์และสภาพอากาศระหว่างผืนป่าไทยและมาเลเซีย ชีวิตของพวกเขาอิงตามนาฬิกาธรรมชาติ วันเวลากิจวัตรต่างๆ เป็นไปตามปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือฤดูกาลที่หมุนเวียนไป อาศัยองค์ความรู้ที่สั่งสมกันมาและการชี้แนะจากผู้อาวุโสซึ่งถือเป็นปราชญ์ในเผ่า เป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่งเพื่อเอาชีวิตรอด เพื่อพิจารณาว่าสิ่งไหน กินได้ กินไม่ได้ ประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นเอง เช่น ลูกดอกยาพิษไว้ล่าสัตว์ ไปจนถึงงานหัตถกรรมที่มีความสวยงาม ซึ่งน้อยคนจะเคยพบเห็น เช่น หวีไม้ไผ่ที่เหล่าหญิงสาวใช้ พวกเขารู้ว่าพืชชนิดใดเป็นสมุนไพร สามารถรักษาด้วยยาที่หาได้ในผืนป่า จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่า ไม่จำเป็นต้องออกมาข้างนอกโดยเฉพาะในหมู่สตรีและเด็ก ในขณะที่ผู้ชาย นานครั้งจะออกจากป่าเพื่อมาแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะถือเป็นช่วงทำงานของเหล่าชายหนุ่ม พวกเขาจะลงมาจาก “ฮายะอ์” เพิงที่พักในป่าเขา มาเป็นลูกจ้างแรงงานแลกข้าวสาร อาหารแห้ง หรือยาสูบ โดยจะนำกลับไปแจกจ่ายเท่าๆ กันให้สมาชิก ตามคติสำคัญของพวกเขาที่ทุกอย่างที่หามาได้ ต้องแบ่งให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม
ญัฮกุร
 
เมื่อราว 100 ปีก่อน หรือสมัยรัชกาลที่ 6 อีริค ไซเดนฟาเดน ชาวต่างชาติที่รับราชการในราชสำนักสยาม ได้สำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ จนได้พบชาวบน หรือ ญัฮกุร เป็นครั้งแรก   ญัฮกุร มีความหมายว่า “คนภูเขา” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาบริเวณแถบด้านในของริมที่ราบสูง ในบริเวณพื้นที่อาณาเขตที่ติดต่อกับชัยภูมิ โดยชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาแล้วกว่าสามชั่วอายุคน แต่เนื่องจากวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง ทั้งจากปัจจัยทางโรคระบาด และระบบการทำไร่ จึงทำให้ยากที่จะระบุถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ชาวฮัฮกุรนิยมทำอาชีพทำไร่ปลูกข้าว โดยใช้วิธีปลูกแบบขุดหลุมหยอด และใช้กระบุงในการปลุกข้าว นอกจากการทำการเกษตรยังดำรงชีพด้วยการเก็บของป่า และมีความสามารถในการจักสาน   ชาวญัฮกุร มีความผูกพันกับชาวมอญ โดยมีระบบจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เชิงตำนานของตนเอง โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็นสี่ยุค ยุคที่ 1 ยุคสมัยนิทานหรือยุคยักษ์ (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "มารยักษ์")  สมัยก่อนคนกับสัตว์คุยกันรู้เรื่อง และมีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนยักษ์จะกินเนื้อกินตับและกินเลือดคน   ยุคที่ 2 ยุคทำมาหากิน (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "ชีร เพื่อ ปาจา?" ) มีคำทำนายไว้แบบปู่สอนหลานว่า “ดูคอยดูนะ พวกเจ้าจะได้พลิกแผ่นดินทำกิน” คือ เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มทำการเพาะปลูกหากิน (ภาษาญัฮกุรคือ "นอมทำนาย เอ็ล ญัง เปญ ปะโตว เจา คอย กะคัฮ เนอ มึง นะ โค่ะ กะลับ แผนตี ปาคูจา")   ยุคที่ 3 ยุคทำมาหาใช้ (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "ชีร จา? อวร") เป็นยุคที่มีแต่ใช้เงิน ไม่มีเก็บ (ตรงกับสมัยปัจจุบัน)   ยุคที่ 4 ยุคอนาคต มีคำทำนายในภาษาไทยว่า "บอกกับลูกหลานไว้ว่าให้ระวัง จะไม่มีไม้กว้างไล่กา หินจะลอย น้ำเต้าจะจม ทางถนนจะกลายเป็นขนมเส้น ผู้หญิงจะหูเบา"  (ในภาษาญัฮกุรว่า "ปะโตว เจาจัฮ ระวัง นะ กุนอม ชูงนะ กะวาง กัลป์อาก ฮมอง นะ ลอย ลุ่ล นะ จ็อม โตรว นะ คือ คะนมเซ่น เพราะ เพราะ กะตวร นะ คะยาล")
กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)
 
     สันนิษฐานว่าชาวปกาเกอะญอ เดิมเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อนที่เดิมอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของทิเบตตั้งแต่ 3238 ปีมาแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ 207 หรือสมัยราชวงศ์จิ๋นได้หนีภัยรุกรานจากกองทัพจีน อพเคลื่อนย้ายลงมาตอนใต้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง จากนั้นก็เกิดปะทะกับกลุ่มชนอื่นๆ จนต้องอพยพถอยร่นลงใต้มายังลุ่มแม่น้ำล้านช้าง มาสู่พื้นที่สามเหลี่ยมรุ่มแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสาละวิน ดังที่พบบันทึกของมิชชันนารีที่กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนระหว่างสยามกับพม่า      กะเหรี่ยง หรือ “จกอว์” เป็นคำที่กลุ่มชนปกาเกอะญอเรียกตนเอง ซึ่งความหมายแปลว่า “คน” ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้แบบรวม ๆ ปัจจุบันกลุ่มชนปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในเขตแดนการปกครองของประเทศไทยประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1.จกอร์/สกอร์  2.โพล่ง/โปว์ 3.กแบ/คะยา 4.ปะโอ/ตองสู