สุวรรณภูมิ แปลตามรากศัพท์ แปลว่า ดินแดนแห่งทองคำ พบในวรรณกรรมโบราณของตะวันออกและตะวันตกหลายเล่มด้วยกัน ซึ่งกล่าวตรงกันว่าเป็นดินแดนที่พ่อค้าชอบเดินทางไปค้าขายเพื่อความร่ำรวย ดังนั้น จึงทำให้มีการตีความสุวรรณภูมิ 4 ความหมายด้วยกัน
ความหมายแรก หมายถึง ดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ทองคำ กล่าวคือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 ปรากฏว่าเกิดภาวะวิกฤตในแบคเตรีย (เอเชียกลาง) ทำให้อินเดียไม่สามารถซื้อทองคำจากไซบีเรียได้ อินเดียจึงหันไปซื้อทองคำจากอาณาจักรโรมัน แต่ต่อมาพุทธศตวรรษที่ 6-7 จักรพรรดิโรมันสั่งห้ามไม่ให้ทองออกนอกอาณาจักร พวกพ่อค้าอินเดียจึงต้องมุ่งไปทางดินแดนตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสวงหาทองคำตามคำเล่าลือ อย่างไรก็ตาม เหมืองทองคำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีคุณภาพต่ำและมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ (ผาสุข อินทราวุธ 2548:1-2) อย่างไรก็ตาม ในเขตแม่น้ำตะนาวศรีนั้นปัจจุบันยังเป็นแหล่งร่อนทองคำที่สำคัญ และพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าไปถึงช่วงต้นพุทธกาล ซึ่งควรจะทำการค้นคว้ากันต่อไป
ความหมายที่สอง อาจหมายถึงดินแดนที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกสูง ทำให้ผิววัตถุมีสีเหลืองคล้ายสีทอง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางประเทศไทย บริเวณบ้านดอนตาเพชร อ.พนนทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบภาชนะสำริดแบบดังกล่าว (ผาสุข อินทราวุธ 2548:1-2) อย่างไรก็ตาม ภาชนะแบบนี้พบน้อยทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงค่อนข้างยากที่จะเชื่อในข้อเสนอดังกล่าวนี้
ความหมายที่สาม อาจสื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่าหมายถึงดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเทศและของป่า ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ดังนั้น เมื่อพ่อค้าได้เดินทางมาค้าขายแล้วจึงร่ำรวยกลับไป จึงเปรียบว่าเป็นดินแดงแห่งทอง (ผาสุข อินทราวุธ 2548:1-2)
ความหมายที่สี่ เพิ่งมีการนิยามโดยสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาว่า “สุวรรณภูมิ” หมายความถึง การประกอบเข้าด้วยกันของดินแดน ทรัพยากร วัฒนธรรม และผู้คน ที่ผลิตสร้างความเป็นภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ขึ้นมา บนพื้นฐานเครือข่ายความสัมพันธ์ภายในภูมิภาครูปแบบต่าง ๆ และการเชื่อมติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเป็นสากล (Cosmopolitan) สืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคโบราณ