เป็นเรื่องที่ยังไม่ยุติ สุวรรณภูมิเป็นชื่อที่ชาวอินเดียเรียกดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมหาชนกชาดก พระมหาชนกกุมารมีความประสงคจะแสวงหาโภคทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนในการกอบกู้ราชสมบัติ จึงได้ร่วมเดินทางไปกับคณะพ่อค้าเพื่อไปเสี่ยงโชคทางตะวันออกโดยเดินทางไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ เรือออกจากเมืองจัมปา (เมืองตามรลิปติในอ่าวเบงกอล)
ในมิลินทปัญหา เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ได้บันทึกว่า นายพานิชย์ผู้มั่งคั่งได้เดินทางทางเรือไปยังทะเลลึกไปยังเมืองท่าต่างๆ คือ วังคะ ตักโกละ จีนะ โสวีระ สุรัฏฐะ อลาสันทะ โกละปัตตนะ สุวรรณภูมิ และเมืองท่าใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง ตักโกละนั้นอยู่ในเขตคาบสมุทรไทย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่คลองท่อม จ.กระบี่ หรือ ภูเขาทอง จ.ระนอง เพราะพบหลักฐานโบราณคดียุคต้นพุทธกาล ดังนั้น สุวรรณภูมิอาจเป็นเมืองใดเมืองหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงดินแดนกว้างๆ เท่านั้น (ผาสุข อินทราวุธ 2548: 15)
ในทิวยาวนาน นิทานของพุทธศาสนาเขียนขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-10 ได้เล่าเรื่องนักเดินทางคนหนึ่งชื่อ สิปรียา ได้เดินทางไปยังดินแดนที่ดินเป็นสีทอง โดยเขาต้องปีนข้ามภูเขาสูงชันและใช้บันไดที่ทำจากหวายเป็นอุปกรณ์ปีนเขา (ผาสุข อินทราวุธ 2548: 15) ข้อมูลค่อนข้างน้อย แต่ทำให้นึกถึงการเดินทางที่อาจต้องข้ามแนวเทือกเขาตะนาวศรี จึงจะเข้าในเขตที่เป็นสุวรรณภูมิ
ในคัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์ของลังกาได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูต ได้แก่ พระโสณะ และพระอุตตระไปยังสุวรรณภูมิ (ผาสุข อินทราวุธ 2548: 16-17) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นการบอกขอบเขตของดินแดนอย่างกว้างๆ แต่คงจะต้องมีเมืองหรือศูนย์กลางที่สมณทูตทั้งสองจะต้องเดินทางไปเพื่อเผยแพร่
ชาวตะวันตกเรียกดินแดนสุวรรณภูมินี้ว่า Chryse แปลว่า ทองคำ โดยเอกสารเก่าที่สุดคือ หนังสือภูมิศาสตร์ชื่อ เดอ โคโรกราเฟีย (De Chorographia) เขียนโดย ปอมโปนิอุส เมลา (Pomponius Mela) เมื่อ พ.ศ.588 ได้กล่าวถึงไครเสว่าเป็นดินแดนแห่งทองคำ แต่เอกสารที่มีชื่อเสียงมากคือ หนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี (Ptolemy’s Geography) เขียนโดย Claudius Ptolemy) เป็นเป็นนักดาราศาสตร์ชาวกรีกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 7 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 8) แต่ต้นฉบับได้หายแล้ว โชคดีที่มีการคัดลอกไว้โดยชาวไบแซนไทน์ เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 นักวิชาการหลายคนจึงเชื่อว่าอาจเป็นสภาพภูมิประเทศที่บรรยายในช่วงสมัยหลังนี้แทน อย่างไรก็ตาม ในหนังสือนี้ได้กล่าวถึงภูมิประเทศ 2 แห่งที่อยู่เลยประเทศอินเดียไปทางทิศตะวันออก คือ ไครเส โคระ (Chryse Chora or Khryse Khora) ซึ่งแปลว่า ดินแดนทองคำ และ ไครเส เคอร์โสเนส (Chryse Chersonesus or Khryse Khersonese) แปลว่า คาบสมุทรทองคำหรือสุวรรณทวีป
ชปโตเลมีได้บรรยายเกี่ยวกับไครเสโคระบุไว้ว่า “ส่วนไครเส ซึ่งเป็นประเทศที่มีบ่อทองและพลเมองเป็นคนผิวขาว” เนื้อความบางตอนมีความสับสน แต่ปโตเลมีได้กล่าวถึงเรือที่จะไปไครเสว่า “มักไปจากไมโสเลีย (Maisolia) ซึ่งอยู่แถบภูเขามเหนทรคีรี (Mahendragiri) ที่ปากแม่น้ำพรรว (Barva) ทางแหลมอินเดียทางด้านตะวันออก”
ส่วนไครเส เคอร์โสเนส ได้ระบุว่า ออกจากปากแม่น้ำคงคา แล่นเรือเลียบฝั่งมาทางตะวันออกเฉียงใต้ถึงเมืองแอรรดอย (Airrhadoi) มีเมองท่าชื่อบาราเการา (Barakoura) แล้วถึงประเทศอารจีร (Argyre) คือ หิรัญภูมิ อยู่ในมณฑลอารกัน (Arakan) ในประเทศนี้มีเมืองท่าหลายแห่ง เช่น แซมบรา (Sambra) ซาดา (Sada) เบราบอนนา (Berabonna) และเตมาลา (Temala) จากนั้นถึงแหลมๆ หนึ่งแล้วถึงถิ่นของชาวป่าที่ดินแดนเบซิงงาในอ่าวซาราแบก (เบซิงงาอาจจะอยู่ปากน้ำอิรวดี) ต่อจากนั้นมีแหลมอีกแหลมหนึ่ง แล้วก็ถึงไครเส เคอร์โสเนส ซึ่งมีเมืองท่าชื่อตะโกลา (Takola) ซาบานา (Sabana) และอ่าวเปริเมาลา (Perimoula) (ผาสุข อินทราวุธ 2548: 22-23)
โดยสรุปแล้ว พื้นที่บริเวณทิศตะวันออกของอินเดีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ สุวรรณภูมิ แต่ถ้าให้เฉพาะเจาะจงลงไปแล้ว พื้นที่บริเวณเมืองตะโกลา ซาบานา และเปริเมาลา เป็นพื้นที่สำคัญที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ
โดยรวมแล้วครอบคลุมเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 ถึง 16 อย่างไรก็ตาม จารึกในสมัยหลังที่สำคัญคือ จารึกกัลยาณี ซึ่งจารึกขึ้นในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ.2015-2035) ก็กล่าวว่า สุวรรณภูมิ คือ ประเทศมอญ (ผาสุข อินทราวุธ 2548: 3) แสดงว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 นั้น สุวรรณภูมิยังคงเป็นดินแดนในอุดมคติ