หน้าแรก ผู้คนและชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ

อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi), โอรังละอุต (Orang Laut)

กลุ่มหมู่เกาะตะวันตก (Western Archipelago) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันในประเทศไทยพบกระจายอยู่ตามหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต

Nuengruethai Wongsuppharerk
354

Showing 1 to 1 of 1 entries



แสดง 1 ถึง 1 จาก 1 รายการ

อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi), โอรังละอุต (Orang Laut)
 
ประวัติศาสตร์ของรัฐชายฝั่งหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นหมู่เกาะมักกล่าวถึงโอรังละอุต (Orang Laut) กลุ่มชนชาวทะเล ผู้มีบทบาทสำคัญในการลาดตระเวนทางทะเล ปกป้องชายฝั่ง และทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการจัดตั้งและพัฒนาท่าการค้าระหว่างเมือง  พร้อมกันนั้นพวกเขายังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดส่งทรัพยากรทางทะเล เช่น กระดองเต่า ปะการัง สาหร่าย เปลือกหอย และสินค้าอื่น ๆ ไปสู่ตลาด   ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงรัฐการค้าโบราณต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ (Andaya, 2015: 29)   พื้นที่หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Island Southeast Asia) มีกลุ่มคนผู้มีวิถีเคลื่อนย้ายตามท้องทะเล พวกเขาได้รับขนาดนามกันว่า “ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเล กลุ่มชนทางทะเล หรือยิปซีทะเล” (sea nomads, sea people or sea gypsies) (Sopher 1977 อ้างถึงใน Stacey, 2007: 7) โดยสามารถแบ่งตามภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างกว้าง ๆ  ประกอบด้วย มอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen), โอรังละอุต (Orang Laut) และซามา บาจาว (Sama Bajau)  (Sather, 2006: 256)   กลุ่มโอรังละอุต (Orang Laut)  มอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) พบตั้งถิ่นฐานบริเวณกลุ่มหมู่เกาะด้านตะวันตก (Western Archipelago) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า โอรังละอุต (โอรังแปลว่า คน ละอุตแปลว่า ทะเล)  เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชุมชนชาวทะเลและชุมชนชายฝั่งที่อาศัยอยู่ตามช่องทางเข้าออกทางตอนเหนือและตอนใต้ของช่องแคบมะละกา บริเวณลุ่มน้ำตอนล่างและปากแม่น้ำสายสำคัญในสุมาตรา คาบสมุทรมลายู รวมถึงหมู่เกาะ Riau-Lingga และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้  ส่วนมอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) เป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกัน พวกเขาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและหมู่เกาะทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรพม่าและไทย (Andaya, 2008: 173-174)    อูรักลาโวยจ์ (Urak Lawoi) เป็นกลุ่มย่อยทางตอนเหนือของโอรังละอุต (Orang Laut) พบอาศัยอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งตั้งแต่ภูเก็ตไปจนถึงกลุ่มเกาะอาดัง และตามแนวขอบด้านใต้ของเทือกเขาที่กลุ่มมอแกนและมอเกล็น (Moken, Moklen) กระจายตัว (Hogan 1989: 1-2 อ้างถึงใน Sather, 2006: 256) ส่วนซามา บาจาว (Sama Bajau) พบตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะด้านตะวันออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Eastern Archipelago) ปัจจุบันพบตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ (Andaya, Barbara Watson and Andaya, 2015)   ภาษาของกลุ่มชาวทะเลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ภาษาอูรักลาโวยจ์ และภาษามอแกน พวกเขาไม่มีภาษาเขียน วิถีชีวิตดั้งเดิมมักล่องเรือเคลื่อนย้ายไปมา โดยตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งทะเลเฉพาะช่วงฤดูมรสุม และย้ายถิ่นหากินไปอาศัยชั่วคราวบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ตามฤดูกาล แล้วหวนกลับถิ่นเดิมในฤดูกาลเดียวกันของทุกปี บางครั้งเมื่อหวนกลับมายังถิ่นเดิมปรากฏว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามาครอบครองจึงต้องหาแหล่งใหม่ บางครั้งต้องอพยพเพราะถูกคนต่างกลุ่มรุกราน (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532: 18, 21, 23)   จากบันทึกทางประวัติศาสตร์พบบทบาทของโอรังละอุตในแง่มุมต่าง ๆ บางแง่มุมได้รับตำแหน่งเกียรติยศ การเข้าถึงสินค้า และการแต่งงานกับราชวงศ์ สามารถดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น Laksamana (พลเรือเอก) ในมะละกา อย่างไรก็ตามบางแง่มุมก็พบว่ามักถูกรุกรานจากกลุ่มชนอื่น เกิดความหวาดกลัวจนต้องอพยพเคลื่อนย้าย ซึ่งแม้จะให้ภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกัน แต่โอรังละอุตมีกลุ่มย่อยจำนวนมาก และมีเพียงส่วนน้อยที่ติดตามเจ้าผู้ปกครอง ในขณะที่กลุ่มโอรังละอุตส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตล่องเรืออย่างอิสระในทะเล (Barnard, 2007: 38)   มีตำนานอูรักลาโวยจ์หลายเรื่องที่กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มชนชาวทะเลที่อพยพมาสู่น่านน้ำไทย ตำนานหนึ่งของชาวอูรักลาโวยจ์ระบุว่าบ้านเกิดของพวกเขาอยู่ที่เกาะลังกาวี ขณะที่อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงต้นกำเนิดของพวกเขาแถบภูเขาฆูนุงฌึรัย (Gunung Jerai) หรือยอดเขาเคดะห์ (Kedah) การอพยพย้ายถิ่นของพวกเขามักถูกอธิบายว่า “พวกเขาหวาดกลัวจากภายคุกคามต่าง ๆ” จึงได้อพยพเคลื่อนย้าย การมีอยู่ของตำนานที่เชื่อมโยงอูรักลาโวยจ์กับเคดะห์ อาจเกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคต้นระหว่างกลุ่มชนทะเลนี้กับผู้คนในเคดะห์ โดยฆูนุงฌึรัย เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองเห็นได้ง่ายสำหรับนักเดินเรือในยุคต้น เมื่อพวกเขาเดินทางมายังชายฝั่งด้านตะวันตกของคอคอดกระหรือคาบสมุทรมลายูตอนเหนือ บันทึกจากประวัติศาสตร์ยุคแรกเรียกชายฝั่งนี้ว่า Kalah (ภาษาอาหรับ) Kataha (สันสกฤต) และ Kadaram (ทมิฬ) ซึ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ในอดีต ท่าเรือต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐเคดะห์ เคยเป็นจุดแวะพักของนักเดินทางจากตะวันตก พวกเขามาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าก่อนเดินทางกลับ หรือเพื่อจัดหาเสบียงสำหรับเดินทางต่อ (Andaya, 2008: 174)   บันทึกแรกสุดของตะวันตกเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ คือบันทึก  Suma Oriental  โดย Tome Pires ศตวรรษที่ 16 ในช่วงโปรตุเกสปกครองมะละกา เขาเรียกกลุ่มชาวทะเลบริเวณช่องแคบว่า “Celates” เป็นกลุ่มโจรสลัดที่ออกปล้นสะดมและภักดีต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองมะละกา  ในบันทึกของชาวตะวันตกผ่านกลุ่มชาวโปรตุเกสยังได้อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ปกครองกับโอรังละอุตไว้ว่า มีลักษณะในเชิงอุปถัมภ์และการเป็นคู่ค้า (patron-client) ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ก่อนมะละกา อย่าง Palembang จากอาณาจักรศรีวิชัย บันทึกประวัติศาสตร์ของมะละกาในศตวรรษที่ 16  “the Sejarah Melayu” ได้บันทึกถึงเจ้าชายพลัดถิ่นจาก Palembang นาม Paramesvara ผู้ได้อพยพมาตั้งเมืองที่มะละกา พร้อมกับผู้ติดตามชาวโอรังละอุต  เรื่องเล่าดังกล่าวได้สะท้อนถึงความภักดีของโอรังละอุตต่อเจ้าผู้ปกครอง และบทบาทสำคัญในการพัฒนารัฐการค้า (Barnard, 2007: 35-37) ในขณะที่บริเวณภาคใต้ของไทย พบบันทึกการตั้งถิ่นฐานของโอรังละอุต ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของกวีจากราชสำนักไทรบุรีในศึกกู้เมืองถลาง (Ujung Salang, พ.ศ. 2351 – พ.ศ. 2354)  มีการกล่าวยกย่องกลุ่มชนทางทะเลพื้นเมือง ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ในความสามารถและความกล้าหาญช่วยราชสำนักสยามและไทรบุรีต่อต้านการโจมตีจากพม่าได้สำเร็จ (Andaya, 2015: 292; รัตติยา สาและ, 2561)