นิทรรศการ “เพชรและอัญมณี 2,000 ปี บนแผ่นดินไทย”
เชิญชมการจัดแสดงลูกปัดและเครื่องประดับโบราณ ที่พบเจอในประเทศไทยอายุมากกว่า 2,000 ปี โดยไฮไลท์ในครั้งนี้ คือ แหวนเพชร (Natural Diamond) พบที่คลองบางกล้วย อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
.
เข้าชมได้ตั้งแต่ วันนี้ – 30 กันยายน 2567 เปิดบริการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
เข้าชมฟรี! ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567 เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา
ทางสถาบันขอขอบคุณ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ในความอนุเคราะห์สิ่งจัดแสดงภายในนิทรรศการ และคุณทวีศักดิ์ เผ่าวิเศษ สำหรับการจัดแสดงเพชร
***********************************************************************
ลูกปัด คือ วัตถุขนาดเล็กที่ถูกนำมาเจาะรูสำหรับร้อย ใช้เป็นเครื่องรางหรือเครื่องประดับ สมัยแรกๆ ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ตั้งแต่ดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ฟัน เมล็ดพืช ไม้ ก้อนหิน จนมีการเสาะแสวงหาวัสดุที่มีความคงทนมากกว่า เช่น ทองคำ แร่ พลอย และอัญมณีต่างๆ เป็นต้น ส่วนลูกปัดที่มีชื่อเสียงที่สุดของคลองท่อม คือ ลูกปัดแก้วโมเสกรูปใบหน้าคน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์จึงนิยมเรียกว่า “ลูกปัดสุริยเทพ” และลูกปัดชนิดต่างๆ เช่น ลูกปัดมงคล ลูกปัดแก้วโมเสก ลูกปัดนกแสงตะวัน เป็นต้น
ร่องรอยหลักฐาน
ลูกปัดโบราณถือเป็นวัตถุพยานสำคัญแสดงหลักฐานทางอารยธรรม สะท้อนถึงร่องรอยเส้นทางในการติดต่อที่เชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาคที่เกิดขึ้นในอดีตอาจสืบย้อนไปยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากรายงานการศึกษายังตอบไม่ครอบคลุมทั้งหมดซึ่งอาจจะกินอาณาบริเวณถึงครึ่งค่อนโลก พบหลักฐานความเชื่อมโยงตั้งแต่ดินแดนจีนในตะวันออกไกลสู่เอเชียอาคเนย์ อินเดีย เปอร์เซีย เมโสโปเตเมีย และตะวันออกกลาง จนถึงฟากโลกตะวันตกที่กรีกและโรมัน
ลูกปัดกับเส้นทางการค้าบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย
สมัยโบราณเส้นทางการค้าและเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นเมืองติดกับลำน้ำ เช่น เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงสู่การติดต่อค้าขายทางทะเลด้วยภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ยังพบหลักฐานลูกปัดแก้ว ขนาดเล็ก ไม่มีลวดลาย เรียกลูกปัดประเภทนี้ว่า ลูกปัดลมสินค้า หรือ ลูกปัดอินโด - แปซิฟิก ซึ่งสันนิษฐานว่าลูกปัดลมสินค้านี้เริ่มผลิตเป็นอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของประเทศอินเดียวเป็นที่แรก เมื่อพบที่ภาคใต้ของประเทศไทยจึงทำให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักฐานการอพยพของพ่อค้าหรือช่างผลิตมาดินแดนภูมิภาคแถบนี้
ลูกปัดโรมันที่พบในประเทศไทยบริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง
ตามที่ทราบกันทั่วไปว่าสามารถพบได้แถบภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบลูกปัดแพร่กระจายในบริเวณภูมิภาคอื่นๆ เช่น เมืองไตรตรึงษ์ บ้านวังพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เขตอรัญญิก จังหวัดกำแพงเพชร เมืองบน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองเก่า อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองโบราณอุ่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บ้านโคกพริก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ฯลฯ
ลักษณะลูกปัดทางใต้ที่พบ อาจแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
- ลูกปัดแก้วโมเสกและลูกปัดตา
- ลูกปัดแก้วสลับสี
- ลูกปัดแก้วสีเดียว
- ลูกปัดอินโดแปซิฟิก
- ลูกปัดลายแถบ
- ลูกปัดอำพันทองและโป่งเกียง
- ลูกปัดแถว ลูกปัดคู่
- ลูกปัดแก้วน้ำเคลือบ
- ลูกปัดอิฐไส้ดำ หลอดแก้ว ก้าน เสา
- ลูกปัดนกแสงตะวัน
- ลูกปัดทรงทุ่น
- ลูกปัดเขียนลาย
- ลูกปัดหินสี โหรา คาร์เนเลียน อาเกต น้ำค้าง สังคโลก หยก แอเมทิสต์ โกเมน ฯลฯ
- ลูกปัดมงคล รูปทรงธรรมชาติ รูปทรงสัญลักษณ์ รูปทรงตราประทับ ฯลฯ
- ลูกปัดทองคำ ลูกปัดตัวคั่น หิน ดิน หอย และอื่นๆ
***********************************************************************
หากคุณสนใจชมนิทรรศการ “เพชรและอัญมณี 2,000 ปี บนแผ่นดินไทย” สามารถเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อาคารไอทีเอฟ - ทาวเวอร์ ชั้น 2 เปิดบริการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น.
*** จอดรถได้ที่ชั้น 6 – 7 – 8 เท่านั้น ***