หน้าแรก Current Stories สุวรรณภูมิฉบับย่อเน้นประเทศไทย (A Brief History of Suvarnabhumi in Thailand)

สุวรรณภูมิฉบับย่อเน้นประเทศไทย (A Brief History of Suvarnabhumi in Thailand)

สุวรรณภูมิฉบับย่อเน้นประเทศไทย (A Brief History of Suvarnabhumi in Thailand)

เผยแพร่เมื่อ 20 ต.ค. 2566
พิมพ์

โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

1,811

สุวรรณภูมิเป็นชื่อเรียกดินแดนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณอย่างน้อย 2,500 ปีมาแล้ว ถือเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งและความร่ำรวย

 

ในขณะที่ชาวกรีกเรียกว่า “Chersonesus Aurea” แปลว่า ดินแดนทอง เช่นกัน ชื่อนี้ปรากฏในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี (ค.ศ.100-170) ซึ่งใช้เรียกบริเวณที่เป็นคาบสมุทรไทย-มาเลย์ในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่บริเวณเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนามระบุว่าเป็น Leftorum regio” หรือดินแดนอินเดียไกล (Farther India)

 

ความสำคัญของสุวรรณภูมิจึงอยู่ตรงที่เป็นระยะแรกเริ่มของภูมิภาคนี้ที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทโลกเมื่อ 2,500 ปีเป็นต้นมา

 

แผนที่ภูมิศาสตร์โลกของปโตเลมี (ที่มา: https://roadsofromanbritain.org/ptolemy.html)

 

 

สุวรรณภูมิมีจริงหรือไม่

เดิมทีมองกันว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนในตำนานปรัมปราของอินเดียไม่มีอยู่จริง จนทำให้สมัยหนึ่งถูกปฏิเสธ ไม่เป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของชาติจึงเริ่มต้นที่ทวารวดีหรือศรีวิชัย

 

เรื่องราวของสุวรรณภูมิได้รับการค้นคว้าในเชิงวิชาการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อสืบค้นความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศสยาม/ไทย จึงได้พบว่าพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ 268-232 ปีก่อน ค.ศ.) ของอินเดียทรงเคยส่งพระโสณะและพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการส่งสมณทูตทั้งสองมายังสุวรรณภูมิก็ถูกตั้งข้อสงสัยโดยนักวิชาการสมัยใหม่ว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจากไม่พบหลักฐานในจารึกสมัยพระเจ้าอโศกเลย พบเพียงแต่ในคัมภีร์มหาวงษ์ของลังกาเท่านั้น ซึ่งเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ประมาณ 700 ปี ดังนั้น จึงมีความน่าเชื่อถือน้อย

 

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ในโลกทัศน์ของคนโบราณในภูมิภาคนี้แล้ว สุวรรณภูมิคือดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ความเข้าใจนี้เห็นได้จากอาณาจักรกัมพุช (เขมร) ในรัชสมัยพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ระบุว่า ใน ค.ศ.633 พระองค์ได้มีอำนาจปกครองสุวรรณภูมิ หรือในอาณาจักรหงสาวดี พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ค.ศ.1471–1492) ระบุว่า พระโสณะและพระอุตตระมาประดิษฐานศาสนาที่รามัญประเทศ หรือในกรณีประเทศไทยเองก็มีรัฐโบราณชื่อ สุพรรณภูมิ (เขียนแบบบาลีคือ สุวรรณภูมิ) ซึ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์สำคัญที่ร่วมกันก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

 

จารึกกัลยาณี ประเทศเมียนมา (ที่มา: https://www.wikidata.org/wiki/Q5364445)

 

อย่างไรเสีย ในรอบทศวรรษมานี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ จึงทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สอดคล้องกับเรื่องราวของสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยืนยันชัดเจนว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีการติดต่อกับอินเดียมาตั้งแต่ต้นพุทธกาล และอยู่ในระบบการค้าโลก

 

วัตถุพยาน

หลักฐานเกี่ยวกับสุวรรณภูมิสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูมิภาคและการติดต่อกับอารยธรรมจากภายนอก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

 

กลุ่มแรก หลักฐานของชนพื้นเมืองท้องถิ่น สะท้อนถึงการเดินทางแลกเปลี่ยนของผู้คนในภูมิภาค หลักฐานสำคัญได้แก่

1) เครื่องประดับรูปวงกลมและหัวสัตว์ที่เรียกว่า “ลิงลิงโอ” (ling-ling-o) มีแหล่งผลิตในเวียดนามตอนกลางเป็นของวัฒนธรรมซาหวิ่น (Sa Huỳnh culture)

 

2) กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองเซิน มีแหล่งผลิตดั้งเดิมในเวียดนามตอนเหนือ กลองพวกนี้ใช้ตีในพิธีขอฝน เก็บเกี่ยว งานศพ และออกรบ ไม่กลองที่คนทั่วไปครอบครองได้ ต้องเป็นคนที่มีสถานะพิเศษในสังคม

 

3) เครื่องประดับทำจากหยก มักเป็นหยกคุณภาพปานกลางเรียกว่า “nephrite” (เนไฟร์ท) มีแหล่งวัตถุดิบจากเกาะไต้หวัน ซึ่งถือเป็นต้นทางของกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (มลายูโบราณ)

 

เครื่องประดับแบบลิงลิงโอ และก้อนวัตถุดิบหยกประเภทเนไฟร์ท

 

กลุ่มที่สอง หลักฐานจากอินเดีย ที่สำคัญได้แก่

1) วัตถุสัญลักษณ์ทางศาสนา เป็นเครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติหลากชนิด เช่น คาร์เนเลียน อะเกต ควอทซ์ อเมทิสต์ โดยพบทำเป็นศรีวัตสะ ตรีรัตนะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ นอกจากนี้แล้ว ยังพบวัตถุที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องจักรพรรดิราช ที่สำคัญเช่นวงแหวนแห่งโมริยะ ตุ้มหูทองคำที่ประดับรูปช้าง ม้า โค สิงห์ และบุคคล

 

ตรีรัตนะ วัตถุสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนาพบที่แหล่งโบราณคดีขะเมายี ประเทศเมียนมา

 

ตุ้มหูทองคำผลิตขึ้นในอินเดีย มีภาพม้า สะท้อนถึงการเป็นของชนชั้นสูง พบที่แหล่งโบราณคดีขะเมายี ประเทศเมียนมา

 

           2) เครื่องประดับ โดยมากเป็นลูกปัดทำจากหินกึ่งรัตนชาติและแก้วหลากหลายสี ลูกปัดบางส่วนผลิตขึ้นในอินเดีย บางส่วนผลิตขึ้นในอาณาจักรโรมัน แรกเริ่มของพวกนี้ผลิตในต่างประเทศ ต่อมาเมื่อคนต่างถิ่นต้องมาลงหลักปักฐานจึงเริ่มต้นการผลิตที่สุวรรณภูมิและถ่ายทอดความรู้ให้กับคนท้องถิ่น

 

           3) วัตถุทางการค้า ได้แก่ เหรียญอินเดีย เหรียญโรมัน และเครื่องประทับสลักลายเรียกว่า อินทากลิโอ (intaglio)

 

เหรียญโรมัน พบที่คลองท่อม จ.กระบี่

 

           4) เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ภาชนะดินเผาจากอินเดียใต้ที่เรียกว่า “รูเลตเต็ด” (Rouletted ware) ลักษณะสำคัญคือมีสีดำและตกแต่งด้วยลายจุด ภาชนะดินเผาจากอินเดียเหนือ ลักษณะสำคัญคือขัดมันสีแดง (Red polished ware)

 

เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติ

 

           กลุ่มที่สาม หลักฐานจากจีน ที่สำคัญคือ ภาชนะดินเผาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ลักษณะสำคัญคือเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง ตกแต่งผิวด้านนอกเป็นลายคล้ายลายผ้าหรือเครื่องจักสาน และมีลายกางเขนในลายวงกลม

 

ภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นพบที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

ผู้คน

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร โดยเบเรนิซ เบลลินา (Bérénice Bellina) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และคณะ ทำให้พบว่าที่เขาสามแก้วนี้เป็นชุมชนการค้านานาชาติ อาศัยอยู่บนเนินเขาต่างๆ กัน พบว่าเนินทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมือง คนกลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นชนชาติใดพูดภาษาใด แต่เป็นไปได้ว่าเป็นคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน หรือมลายูโบราณ เนื่องจากพบกลองมโหระทึกและเครื่องประดับลิงลิงโอ ซึ่งคนกลุ่มนี้คือ บรรพบุรุษของคนในภาคใต้

 

เนินดินถัดขึ้นไปทางเหนือพบเศษภาชนะดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นปะปนกับเศษภาชนะดินเผาแบบพื้นเมือง และอินเดียใต้ แต่มีปริมาณของเศษภาชนะดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นมากกว่า แสดงว่าชาวจีนอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับชนพื้นเมือง

 

กลองมโหระทึกพบที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

เนินดินถัดขึ้นไปทางเหนืออีกพบเศษภาชนะดินเผาจากอินเดียใต้และอินเดียเหนือในปริมาณมาก แสดงว่ามีคนจากอินเดียใต้คือ ชาวทมิฬ และคนจากอินเดียเหนือคือ ชาวอารยัน มาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่นี้

 

ชาวจีนและอินเดียที่เดินทางเข้ามาจำเป็นต้องตั้งรกรากตามชุมชนตามเมืองต่างๆ ในสุวรรณภูมิ เพราะต้องรอลมมรสุมในการเดินทางไปหรือกลับนาน 6 เดือน ถ้าเดินทางจากอินเดียเพื่อมายังสุวรรณภูมิจะใช้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ถ้าจะเดินทางกลับต้องรอลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน

 

ด้วยปัจจัยด้านลมมรสุมนี้เองที่ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธ์ จึงทำให้ชนพื้นเมืองผสมผสานกับคนต่างชาติ นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในสุวรรณภูมิโดยเฉพาะในคาบสมุทรไทย-มาเลย์มีความหลากหลาย

 

 

เมืองสำคัญ

การเติบโตขึ้นของการค้าระหว่างสุวรรณภูมิกับอินเดียและจีนส่งผลทำให้ชุมชนขนาดเล็กขนาดใหญ่ตามแนวชายฝั่งพัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองท่า พบตลอดสองชายฝั่งของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ พื้นที่ที่ใดมีที่ราบมากก็พัฒนาขึ้นเป็นเมืองขนาดใหญ่ พื้นที่ใดมีที่ราบน้อยก็เป็นไปตรงข้ามกัน

 

ในแผนที่ของปโตเลมีปรากฏชื่อเมืองหลายแห่งในดินแดนสุวรรณภูมิ จากแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียพบชื่อเมืองเบโรเบ (Berobe) ถัดลงมาคือเมืองตะโกลา (Takola) เมืองอโมนคร (Amonagara) ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยปรากฏชื่อเมืองอัมดรา (Amdra) เมืองธิปิโนบาน (Thipinoban) เมืองพัพซาฟา (Papzafa) เมืองซามาราดา (Samarada) เมืองบาโลนา (Balona) เมืองเพริมูลา (Perimula) เมืองคาลิโพลิส (Calipolis) และเมืองธารา (Thara)

 

แผนที่สุวรรณภูมิ วาดขึ้นโดยนิโคลัส เจอร์มานัส ในปี ค.ศ.1467 โดยคัดลอกจากแผนที่ของปโตเลมี

 

เมืองพวกนี้บางเมืองสามารถกำหนดตำแหน่งที่ตั้งที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ แต่บางเมืองยังเกิดปัญหา แต่จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในปัจจุบัน เมืองสำคัญที่พบในเขตคาบสมุทรไทย-มาเลย์จากเหนือลงใต้มีดังนี้

 

ชายฝั่งทะเลอันดามัน (ฝากมหาสมุทรอินเดีย) ได้แก่ แหล่งโบราณคดีขะเมายี จ.มะลิวัลย์ ประเทศเมียนมา เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองเบโรเบ, แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง, คลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองตะโกลา, แหล่งโบราณคดีนางย่อน (บางโร) อ.คุระบุรี จ.พังงา, และเมืองในเขตหุบเขาบูจัง รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย ที่นี่อาจเป็นเมืองอโมนคร  

 

แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จ.ระนอง

 

ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นไปได้ว่าเป็นเมืองซามาราดา, แหล่งโบราณคดีเขาเสก อ.หลังสวน จ.ชุมพร อาจเป็นเมืองบาโลนา เพราะอยู่ตอนในของแผ่นดิน, แหล่งโบราณคดีแถบเขาประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อาจเป็นเมืองเพริมูลา, แหล่งโบราณคดีในเขตเมืองยะรัง จ.ปัตตานี อาจเป็นเมืองคาลิโพลิส

 

แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

ส่วนเมืองอื่นๆ ในเขตฝั่งทะเลอ่าวไทยที่น่าสนใจอีกคือ เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม อาจตรงกับเมืองพัพซาฟา, และแหล่งโบราณคดีโกธัป จ.ดองธาป ประเทศเวียดนาม อาจตรงกับเมืองธิปิโนบาน

 

การเดินทางระหว่างเมืองในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันกับชายฝั่งอ่าวไทยนี้จำเป็นต้องใช้การเดินทางข้ามคาบสมุทร (trans-peninsula) ยังไม่นิยมผ่านช่องแคบมะละกา เพราะมีโจรสลัด และขาดความชำนาญในการเดินเรือ ส่งผลทำให้ในระยะแรกของการค้าเกิดชุมชนตอนในของแผ่นดินตลอดทาง

 

สุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทการค้าโลกที่เชื่อมโยงระหว่างโรมัน อินเดีย และจีน โรมันและอินเดียมีความต้องการผ้าไหมจากจีน อีกทั้งต้องการเครื่องเทศต่างๆ จากสุวรรณภูมิเช่น พริกไทย กระวาน กานพลู ลูกจันทน์ จันทน์เทศ ในขณะที่จีนต้องการเครื่องประดับมีค่า เพื่อใช้ตกแต่งร่างกายและยกสถานะทางสังคมให้สูงส่ง ซึ่งของพวกนี้ได้มาจากอินเดียและสุวรรณภูมิ

 

ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า สุวรรณภูมิไม่ได้เป็นตำนานปรัมปราทางศาสนา แต่เป็นดินแดนที่มีอยู่จริง ระยะแรกอาจหมายถึงในส่วนดินแดนที่เป็นคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ภายหลังจึงครอบคลุมมากขึ้นทั้งในเขตพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยสุวรรณภูมินี้เกิดขึ้นจากการเติบโตขึ้นของการค้าโลก (World trade) ส่งผลทำให้คนจากอินเดียคนจากจีนเดินทางเข้ามาทำการค้าและเผยแผ่ศาสนา ชุมชนขนาดเล็กใหญ่เมื่อ 2,500 ปีก่อนจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นบ้านเมืองที่มั่งคั่งในที่สุด

 

 

 

 

คำสำคัญ/ป้ายกำกับ

1. สุวรรณภูมิฉบับย่อ 2. หลักฐานสุวรรณภูมิ 3. อินเดียเหนือ 4. อินเดียใต้ 5. ฮั่น 6. ราชวงศ์ฮั่น 7. คาบสมุทรไทย-มาเลย์

รายการอ้างอิง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 2562. สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita). กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน).

สุวรรณภูมิเป็นชื่อเรียกดินแดนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณอย่างน้อย 2,500 ปีมาแล้ว ถือเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งและความร่ำรวย

 

ในขณะที่ชาวกรีกเรียกว่า “Chersonesus Aurea” แปลว่า ดินแดนทอง เช่นกัน ชื่อนี้ปรากฏในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี (ค.ศ.100-170) ซึ่งใช้เรียกบริเวณที่เป็นคาบสมุทรไทย-มาเลย์ในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่บริเวณเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนามระบุว่าเป็น Leftorum regio” หรือดินแดนอินเดียไกล (Farther India)

 

ความสำคัญของสุวรรณภูมิจึงอยู่ตรงที่เป็นระยะแรกเริ่มของภูมิภาคนี้ที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทโลกเมื่อ 2,500 ปีเป็นต้นมา

 

แผนที่ภูมิศาสตร์โลกของปโตเลมี (ที่มา: https://roadsofromanbritain.org/ptolemy.html)

 

 

สุวรรณภูมิมีจริงหรือไม่

เดิมทีมองกันว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนในตำนานปรัมปราของอินเดียไม่มีอยู่จริง จนทำให้สมัยหนึ่งถูกปฏิเสธ ไม่เป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของชาติจึงเริ่มต้นที่ทวารวดีหรือศรีวิชัย

 

เรื่องราวของสุวรรณภูมิได้รับการค้นคว้าในเชิงวิชาการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อสืบค้นความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศสยาม/ไทย จึงได้พบว่าพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ 268-232 ปีก่อน ค.ศ.) ของอินเดียทรงเคยส่งพระโสณะและพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการส่งสมณทูตทั้งสองมายังสุวรรณภูมิก็ถูกตั้งข้อสงสัยโดยนักวิชาการสมัยใหม่ว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจากไม่พบหลักฐานในจารึกสมัยพระเจ้าอโศกเลย พบเพียงแต่ในคัมภีร์มหาวงษ์ของลังกาเท่านั้น ซึ่งเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ประมาณ 700 ปี ดังนั้น จึงมีความน่าเชื่อถือน้อย

 

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ในโลกทัศน์ของคนโบราณในภูมิภาคนี้แล้ว สุวรรณภูมิคือดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ความเข้าใจนี้เห็นได้จากอาณาจักรกัมพุช (เขมร) ในรัชสมัยพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ระบุว่า ใน ค.ศ.633 พระองค์ได้มีอำนาจปกครองสุวรรณภูมิ หรือในอาณาจักรหงสาวดี พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ค.ศ.1471–1492) ระบุว่า พระโสณะและพระอุตตระมาประดิษฐานศาสนาที่รามัญประเทศ หรือในกรณีประเทศไทยเองก็มีรัฐโบราณชื่อ สุพรรณภูมิ (เขียนแบบบาลีคือ สุวรรณภูมิ) ซึ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์สำคัญที่ร่วมกันก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

 

จารึกกัลยาณี ประเทศเมียนมา (ที่มา: https://www.wikidata.org/wiki/Q5364445)

 

อย่างไรเสีย ในรอบทศวรรษมานี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ จึงทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สอดคล้องกับเรื่องราวของสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยืนยันชัดเจนว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีการติดต่อกับอินเดียมาตั้งแต่ต้นพุทธกาล และอยู่ในระบบการค้าโลก

 

วัตถุพยาน

หลักฐานเกี่ยวกับสุวรรณภูมิสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูมิภาคและการติดต่อกับอารยธรรมจากภายนอก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

 

กลุ่มแรก หลักฐานของชนพื้นเมืองท้องถิ่น สะท้อนถึงการเดินทางแลกเปลี่ยนของผู้คนในภูมิภาค หลักฐานสำคัญได้แก่

1) เครื่องประดับรูปวงกลมและหัวสัตว์ที่เรียกว่า “ลิงลิงโอ” (ling-ling-o) มีแหล่งผลิตในเวียดนามตอนกลางเป็นของวัฒนธรรมซาหวิ่น (Sa Huỳnh culture)

 

2) กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองเซิน มีแหล่งผลิตดั้งเดิมในเวียดนามตอนเหนือ กลองพวกนี้ใช้ตีในพิธีขอฝน เก็บเกี่ยว งานศพ และออกรบ ไม่กลองที่คนทั่วไปครอบครองได้ ต้องเป็นคนที่มีสถานะพิเศษในสังคม

 

3) เครื่องประดับทำจากหยก มักเป็นหยกคุณภาพปานกลางเรียกว่า “nephrite” (เนไฟร์ท) มีแหล่งวัตถุดิบจากเกาะไต้หวัน ซึ่งถือเป็นต้นทางของกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (มลายูโบราณ)

 

เครื่องประดับแบบลิงลิงโอ และก้อนวัตถุดิบหยกประเภทเนไฟร์ท

 

กลุ่มที่สอง หลักฐานจากอินเดีย ที่สำคัญได้แก่

1) วัตถุสัญลักษณ์ทางศาสนา เป็นเครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติหลากชนิด เช่น คาร์เนเลียน อะเกต ควอทซ์ อเมทิสต์ โดยพบทำเป็นศรีวัตสะ ตรีรัตนะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ นอกจากนี้แล้ว ยังพบวัตถุที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องจักรพรรดิราช ที่สำคัญเช่นวงแหวนแห่งโมริยะ ตุ้มหูทองคำที่ประดับรูปช้าง ม้า โค สิงห์ และบุคคล

 

ตรีรัตนะ วัตถุสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนาพบที่แหล่งโบราณคดีขะเมายี ประเทศเมียนมา

 

ตุ้มหูทองคำผลิตขึ้นในอินเดีย มีภาพม้า สะท้อนถึงการเป็นของชนชั้นสูง พบที่แหล่งโบราณคดีขะเมายี ประเทศเมียนมา

 

           2) เครื่องประดับ โดยมากเป็นลูกปัดทำจากหินกึ่งรัตนชาติและแก้วหลากหลายสี ลูกปัดบางส่วนผลิตขึ้นในอินเดีย บางส่วนผลิตขึ้นในอาณาจักรโรมัน แรกเริ่มของพวกนี้ผลิตในต่างประเทศ ต่อมาเมื่อคนต่างถิ่นต้องมาลงหลักปักฐานจึงเริ่มต้นการผลิตที่สุวรรณภูมิและถ่ายทอดความรู้ให้กับคนท้องถิ่น

 

           3) วัตถุทางการค้า ได้แก่ เหรียญอินเดีย เหรียญโรมัน และเครื่องประทับสลักลายเรียกว่า อินทากลิโอ (intaglio)

 

เหรียญโรมัน พบที่คลองท่อม จ.กระบี่

 

           4) เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ภาชนะดินเผาจากอินเดียใต้ที่เรียกว่า “รูเลตเต็ด” (Rouletted ware) ลักษณะสำคัญคือมีสีดำและตกแต่งด้วยลายจุด ภาชนะดินเผาจากอินเดียเหนือ ลักษณะสำคัญคือขัดมันสีแดง (Red polished ware)

 

เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติ

 

           กลุ่มที่สาม หลักฐานจากจีน ที่สำคัญคือ ภาชนะดินเผาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ลักษณะสำคัญคือเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง ตกแต่งผิวด้านนอกเป็นลายคล้ายลายผ้าหรือเครื่องจักสาน และมีลายกางเขนในลายวงกลม

 

ภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นพบที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

ผู้คน

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร โดยเบเรนิซ เบลลินา (Bérénice Bellina) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และคณะ ทำให้พบว่าที่เขาสามแก้วนี้เป็นชุมชนการค้านานาชาติ อาศัยอยู่บนเนินเขาต่างๆ กัน พบว่าเนินทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมือง คนกลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นชนชาติใดพูดภาษาใด แต่เป็นไปได้ว่าเป็นคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน หรือมลายูโบราณ เนื่องจากพบกลองมโหระทึกและเครื่องประดับลิงลิงโอ ซึ่งคนกลุ่มนี้คือ บรรพบุรุษของคนในภาคใต้

 

เนินดินถัดขึ้นไปทางเหนือพบเศษภาชนะดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นปะปนกับเศษภาชนะดินเผาแบบพื้นเมือง และอินเดียใต้ แต่มีปริมาณของเศษภาชนะดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นมากกว่า แสดงว่าชาวจีนอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับชนพื้นเมือง

 

กลองมโหระทึกพบที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

เนินดินถัดขึ้นไปทางเหนืออีกพบเศษภาชนะดินเผาจากอินเดียใต้และอินเดียเหนือในปริมาณมาก แสดงว่ามีคนจากอินเดียใต้คือ ชาวทมิฬ และคนจากอินเดียเหนือคือ ชาวอารยัน มาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่นี้

 

ชาวจีนและอินเดียที่เดินทางเข้ามาจำเป็นต้องตั้งรกรากตามชุมชนตามเมืองต่างๆ ในสุวรรณภูมิ เพราะต้องรอลมมรสุมในการเดินทางไปหรือกลับนาน 6 เดือน ถ้าเดินทางจากอินเดียเพื่อมายังสุวรรณภูมิจะใช้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ถ้าจะเดินทางกลับต้องรอลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน

 

ด้วยปัจจัยด้านลมมรสุมนี้เองที่ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธ์ จึงทำให้ชนพื้นเมืองผสมผสานกับคนต่างชาติ นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในสุวรรณภูมิโดยเฉพาะในคาบสมุทรไทย-มาเลย์มีความหลากหลาย

 

 

เมืองสำคัญ

การเติบโตขึ้นของการค้าระหว่างสุวรรณภูมิกับอินเดียและจีนส่งผลทำให้ชุมชนขนาดเล็กขนาดใหญ่ตามแนวชายฝั่งพัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองท่า พบตลอดสองชายฝั่งของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ พื้นที่ที่ใดมีที่ราบมากก็พัฒนาขึ้นเป็นเมืองขนาดใหญ่ พื้นที่ใดมีที่ราบน้อยก็เป็นไปตรงข้ามกัน

 

ในแผนที่ของปโตเลมีปรากฏชื่อเมืองหลายแห่งในดินแดนสุวรรณภูมิ จากแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียพบชื่อเมืองเบโรเบ (Berobe) ถัดลงมาคือเมืองตะโกลา (Takola) เมืองอโมนคร (Amonagara) ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยปรากฏชื่อเมืองอัมดรา (Amdra) เมืองธิปิโนบาน (Thipinoban) เมืองพัพซาฟา (Papzafa) เมืองซามาราดา (Samarada) เมืองบาโลนา (Balona) เมืองเพริมูลา (Perimula) เมืองคาลิโพลิส (Calipolis) และเมืองธารา (Thara)

 

แผนที่สุวรรณภูมิ วาดขึ้นโดยนิโคลัส เจอร์มานัส ในปี ค.ศ.1467 โดยคัดลอกจากแผนที่ของปโตเลมี

 

เมืองพวกนี้บางเมืองสามารถกำหนดตำแหน่งที่ตั้งที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ แต่บางเมืองยังเกิดปัญหา แต่จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในปัจจุบัน เมืองสำคัญที่พบในเขตคาบสมุทรไทย-มาเลย์จากเหนือลงใต้มีดังนี้

 

ชายฝั่งทะเลอันดามัน (ฝากมหาสมุทรอินเดีย) ได้แก่ แหล่งโบราณคดีขะเมายี จ.มะลิวัลย์ ประเทศเมียนมา เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองเบโรเบ, แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง, คลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองตะโกลา, แหล่งโบราณคดีนางย่อน (บางโร) อ.คุระบุรี จ.พังงา, และเมืองในเขตหุบเขาบูจัง รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย ที่นี่อาจเป็นเมืองอโมนคร  

 

แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จ.ระนอง

 

ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นไปได้ว่าเป็นเมืองซามาราดา, แหล่งโบราณคดีเขาเสก อ.หลังสวน จ.ชุมพร อาจเป็นเมืองบาโลนา เพราะอยู่ตอนในของแผ่นดิน, แหล่งโบราณคดีแถบเขาประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อาจเป็นเมืองเพริมูลา, แหล่งโบราณคดีในเขตเมืองยะรัง จ.ปัตตานี อาจเป็นเมืองคาลิโพลิส

 

แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร

 

ส่วนเมืองอื่นๆ ในเขตฝั่งทะเลอ่าวไทยที่น่าสนใจอีกคือ เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม อาจตรงกับเมืองพัพซาฟา, และแหล่งโบราณคดีโกธัป จ.ดองธาป ประเทศเวียดนาม อาจตรงกับเมืองธิปิโนบาน

 

การเดินทางระหว่างเมืองในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันกับชายฝั่งอ่าวไทยนี้จำเป็นต้องใช้การเดินทางข้ามคาบสมุทร (trans-peninsula) ยังไม่นิยมผ่านช่องแคบมะละกา เพราะมีโจรสลัด และขาดความชำนาญในการเดินเรือ ส่งผลทำให้ในระยะแรกของการค้าเกิดชุมชนตอนในของแผ่นดินตลอดทาง

 

สุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทการค้าโลกที่เชื่อมโยงระหว่างโรมัน อินเดีย และจีน โรมันและอินเดียมีความต้องการผ้าไหมจากจีน อีกทั้งต้องการเครื่องเทศต่างๆ จากสุวรรณภูมิเช่น พริกไทย กระวาน กานพลู ลูกจันทน์ จันทน์เทศ ในขณะที่จีนต้องการเครื่องประดับมีค่า เพื่อใช้ตกแต่งร่างกายและยกสถานะทางสังคมให้สูงส่ง ซึ่งของพวกนี้ได้มาจากอินเดียและสุวรรณภูมิ

 

ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า สุวรรณภูมิไม่ได้เป็นตำนานปรัมปราทางศาสนา แต่เป็นดินแดนที่มีอยู่จริง ระยะแรกอาจหมายถึงในส่วนดินแดนที่เป็นคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ภายหลังจึงครอบคลุมมากขึ้นทั้งในเขตพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยสุวรรณภูมินี้เกิดขึ้นจากการเติบโตขึ้นของการค้าโลก (World trade) ส่งผลทำให้คนจากอินเดียคนจากจีนเดินทางเข้ามาทำการค้าและเผยแผ่ศาสนา ชุมชนขนาดเล็กใหญ่เมื่อ 2,500 ปีก่อนจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นบ้านเมืองที่มั่งคั่งในที่สุด

 

 

 

 

คำสำคัญ/ป้ายกำกับ

สุวรรณภูมิฉบับย่อ หลักฐานสุวรรณภูมิ อินเดียเหนือ อินเดียใต้ ฮั่น ราชวงศ์ฮั่น คาบสมุทรไทย-มาเลย์

รายการอ้างอิง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 2562. สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita). กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน).

จำนวนผู้เข้าชม

1,811

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

19 ธ.ค. 2566