สถาปัตยกรรมรูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลแดงแปลกตา คล้ายกับงาน Cubic Architecture ตั้งอยู่ท่ามกลางไร่มันสำปะหลังนี้ คงไม่มีใครคิดว่านี่คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ซึ่งเรียกได้ว่าฉีกไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งในประเทศไทย และไม่ใช่แค่เพียงในแง่ของสถาปัตย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการเล่าเรื่องอีกด้วย
บ้านเก่าเป็นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเป็นชุมชนหมู่บ้านแรกๆ ในไทยที่เริ่มต้นทำการเกษตรกรรมเมื่อ 4,000 กว่าปีมาแล้ว และยังสะท้อนร่องรอยของการอพยพของกลุ่มคนจากจีนมายังภาคตะวันตกของไทยอีกด้วย ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ได้รับการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่พักของทีมขุดค้นทางโบราณคดีในยุคนั้น ซึ่งอาคารเก่านั้นได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ล่าสุดทางกรมศิลปากรได้ปรับโฉมอาคารใหม่ชนิดที่ทำให้ลืมภาพเดิมๆ ของพิพิธภัณฑ์ไทยไปได้เลย
อย่างไรก็ตาม ที่บ้านเก่าไม่พบชั้นของเครื่องมือหินกะเทาะที่จะเชื่อมโยงกับมนุษย์สายพันธุ์โฮโม อิเร็กตัส แต่กลับพบหลักฐานที่สำคัญเช่นกันคือ ‘หม้อสามขา’ (Tripod pottery) ซึ่งเป็นภาชนะเด่นที่พบในสมัยหินใหม่ในเขตลุ่มน้ำเหลือง (ฮวงโห) ในประเทศจีน เช่น วัฒนธรรมหยางเชา มีอายุ 7,000-5,000 ปีมาแล้ว หรือวัฒนธรรมหลงซาน มีอายุ 5,000-4,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบหม้อสามขาที่บ้านเก่าที่คล้ายกันกับวัฒนธรรมหินใหม่ในจีน จึงนำไปสู่ข้อสมมติฐานว่า นี่คือบรรพบุรุษของคนไทยที่อพยพมาจากจีน