ผู้เขียน | จักรินรัฐ นิยมค้า |
ชื่อวิทยานิพนธ์ | การวิเคราะห์ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี |
มหาวิทยาลัย | ศิลปากร |
คณะ | โบราณคดี |
สาขาวิชา | โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ |
ระดับการศึกษา | ปริญญาโท |
ปี | 2442 (1999) |
จำนวนหน้า | 111 |
ภาษา | ภาษาไทย |
ที่มา | ลิงก์ที่มา |
-
-
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงรูปแบบ การตกแต่ง เทคนิค ตลอดจนหน้าที่การใช้งานของภาชนะดินเผา ที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน โดยเปรียบเทียบภาชนะดินเผาทั้งในและนอกหลุมฝังศพ นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ผลการศึกษาภาชนะและเศษภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้น พบว่า ภาชนะดินเผาที่พบร่วมกับหลุมฝังศพ จำนวน 7 ใบแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ รูปทรงของภาชนะดินเผาทำให้ทราบถึงหน้าที่ของการใช้งาน คือ เป็นภาชนะหุงต้ม หรือ เก็บอาหาร และเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร ส่วนการตกแต่งผิวภาชนะดินเผา มีการตกแต่งหลายแบบ ได้แก่ การขูดขีด การกดประทับ การขัดมัน รมควัน การเจาะรู การปั้นแปะ และเทคนิคผสม วิธีที่นิยมมากที่สุด คือ ลายขูดขีด ภาชนะดินเผาที่ผลิตส่วนใหญ่จะมีเนื้อหยาบ ซึ่งสัมพันธ์กับการขึ้นรูปด้วยมือ โดยการใช้ไม้ตีและหินดุเพียงวิธีการเดียว วิธีการเผาที่ใช้ คือ การเผาแบบกลางแจ้ง และมีอุณหภูมิต่ำ เมื่อเปรียบเทียบภาชนะที่พบในหลุมฝังศพกับเศษภาชนะดินเผาบริเวณนอกพื้นที่ฝังศพ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันเลย ทั้งในเรื่องรูปทรง เทคนิคการผลิต และการตกแต่งลวดลาย รูปแบบของภาชนะที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมน่าจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก จึงมีการผลิตภาชนะดินเผาเพียงเพื่อสนองต่อความต้องการของชุมชน คือ การผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอย เพื่อชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังได้ใช้ภาชนะเหล่านี้ในพิธีกรรมฝังศพอีกด้วย เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี พบว่า ลักษณะของภาชนะดินเผาโดยส่วนรวม มีความแตกต่างกัน แม้ว่าคล้ายคลึงกันบ้างในส่วนของลวดลายการตกแต่ง อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีทั้ง 2 แบบ น่าจะอยู่ร่วมสมัยกัน รวมทั้งอาจมีการติดต่อสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน