ผู้เขียน | เสาวพงษ์ ยมาพัฒน์ |
ชื่อวิทยานิพนธ์ | อู่ทองในเครือข่ายการค้าโลกสมัยโบราณ |
มหาวิทยาลัย | มหาวิทยาลัยศิลปากร |
คณะ | บัณฑิตวิทยาลัย |
สาขาวิชา | โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ |
ระดับการศึกษา | ปริญญาโท |
ปี | 2554 (2011) |
จำนวนหน้า | 134 |
ภาษา | ภาษาไทย |
ที่มา | ลิงก์ที่มา |
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาททางด้านการค้าของเมืองโบราณอู่ทองกับเครือข่ายการค้าโลกสมัยโบราณ และเพื่อศึกษาสาเหตุของการสิ้นสุดบทบาททางการค้าเมืองโบราณอู่ทองกับเครือข่ายการค้าโลกสมัยโบราณ
ผลการศึกษาพบว่า เมืองโบราณอู่ทองมีการติดต่อค้าขายกับโลกโบราณมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา และเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามภาวะการค้าของโลกสมัยโบราณโดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-9 สมัยอินโด-โรมันตอนปลาย หลังจากนั้นยังคงมีการค้าขายกับโลกโบราณเรื่อยมาจนมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนามากกว่าวัตถุโบราณประเภทสินค้า ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของเมืองโบราณอู่ทองอีกฐานะหนึ่งคือเป็นเมืองศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของรัฐทวารวดี เมืองโบราณอู่ทองยังคงมีบทบาทเป็นเมืองท่าที่สำคัญของรัฐทวารวดีต่อมาจนถึงราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 โดยการปรับตัวตามภาวะการค้าของโลกโบราณที่ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะการค้ากับจีน โบราณวัตถุที่พบในช่วงนี้จึงเป็นเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเปอร์เซีย จากหลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานทางเอกสาร และหลักฐานทางภูมิศาสตร์ต่างให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันจนนำไปสู่ข้อสรุปว่า เมืองโบราณอู่ทองถือว่าเป็นหนึ่งในเครือข่ายการคเาโลกโบราณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3-16
เมืองโบราณอู่ทองมีการติดต่อทางการค้ากับโลกโบราณเรื่อยมาจนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มลดบทบาทลงในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากสาเหตุหลายประการประกอบกัน คือ (1) การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำไม่ไหลผ่านตัวเมืองจนเกิดความขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และไม่สะดวกในการคมนาคมติดต่อค้าขายกับภายในและกับโลกโบราณ (2) การเพิ่มบทบาทของท่าเรือทางตอนใต้ของไทยสมัยศรีวิชัย และการเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือโดยมุ่งลงไปสู่หมู่เกาะเครื่องเทศโดยตรง (3) การเปลี่ยนแปลงระบบการค้าของจีนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินเรือ