ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทยเป็นภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินเหนียวธรรมดา (earthenware) สำหรับใช้เองในชุมชนทั้งในชีวิตประจำวันและในโอกาสพิเศษหรือพิธีกรรมทางศาสนา มีวิธีการผลิตไม่ซับซ้อน และใช้เนื้อดินที่ใช้เป็นดินที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น เรียกว่า ดินแดง (red clay) ก่อนเผาจะมีสีน้ำตาลอ่าน น้ำตาลแก่ หรือเทาแก่ เมื่อเผาแล้วมักจะเป็นสีแดง น้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนใหญ่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ใช้หินดุเป็นเครื่องมือแต่งรูปทรง และใช้เตาเผากลางแจ้งด้วยอุณหภูมิไม่เกิน 1,100 องศาเซลเซียส เวลาเคาะมีเสียงทึบไม่ไสกังวาน โดยภาชนะในโอกาสพิเศษจะมีการผลิตที่ประณีตกว่า เนื้อดินละเอียดและบางกว่า
ภาชนะเหล่านี้มีทั้งรูปแบบสืบต่อมาจากภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ไห ชาม อ่าง จานมีเชิง หม้อมีสัน หม้อน้ำ ฯลฯ โดยนำมาตกแต่งให้งดงามขึ้น และรูปแบบที่เลียนแบบมาจากภาชนะที่แพร่หลายในวัฒนธรรมอินเดีย ตั้งแต่ช่วงต้นคริสตกาลถึงสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) และสมัยหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 12-13) เช่น ตะคันใส่น้ำมันตามไฟตะเกียง ตะเกียง (ถ้วยมีพวย) และหม้อมีพวย (กุณฑี) ฯลฯ
ในด้านเทคนิคการตกแต่งลวดลายก็เช่นเดียวกัน ลวดลายของภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีมีทั้งแบบที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือแบบพื้นเมืองเดิม ด้วยการใช้ลายเชือกทาบ ลายเครื่องจักรสาน ลายขูดขีด ลายคลื่น และลายกดด้วยลายนิ้วมือ ฯลฯ และแบบที่นำเทคนิคของช่างอินเดียมาใช้ตกแต่งลวดลายบนภาชนะแบบพิเศษด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้ลวดลายรูปดอกไม้ รูปสัตว์ และรูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ ประทับลงในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า
จุดเด่นที่น่าสนใจของภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี คือ การพบภาชนะประเภทหม้อมีพวย (spouted pot) และถ้วยมีพวย (spouted bowl or cup) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อน้ำมีพวยหรือ “กุณฑี” (Kendi) ทั้งแบบปากผายและแบบปากแคบ มีกุณฑีหลายรูปทรง เช่น แบบทรงตรงกระบอก ทรงตรงสามเหลี่ยม ทรงคาง ทรงขอบนูนยื่น ทรงพิเศษรูปสัตว์ ฯลฯ มีข้อสันนิษฐานว่าหม้อขนาดใหญ่จะใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนหม้อขนาดเล็กจะใช้ในพิธีกรรมเหมือนกับภาชนะที่พบได้ในบริเวณภาคเหนือของอินเดีย ซึ่งคาดว่าเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจากอารยธรรมแถบเมโสโปเตเมีย
การใช้กุณฑีได้แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับวัฒนธรรมจากอินเดียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ออกแก้ว ประเทศเวียดนาม สมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา โบก์ถโน ประเทศเมียนมา ตลอดจนที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และประเทศไทย
เราสามารถพบกุณฑีตามแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยในแถบภาคกลาง เช่น เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองโบราณศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ชุมชนโบราณตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ตลอดจนชุมชนโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคใต้
การศึกษากุณฑีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าสมัยทวารวดีมีการรับวัฒนธรรมอินเดียอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือไปจากประติมากรรมหรือคติความเชื่อทางศาสนาแล้ว วัฒนธรรมอินเดียยังสะท้อนออกมาในสิ่งของในชีวิตประจำวัน เห็นได้จากการใช้กุณฑีในรูปแบบไม่ต่างจากที่ใช้ในอินเดีย ตั้งแต่การใช้ในครัวเรือน การผลิตและกระจายผลผลิตไปขายยังชุมชนอื่น การใช้เป็นเครื่องราชูปโภคในราชสำนัก หรือทำหน้าที่ในทางความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับศพด้วยเช่นกัน และยังพบภาชนะรูปแบบใกล้เคียงกันนี้ในประเทศอื่นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นการเดินทางค้าขายทางไกลและข้ามคาบสมุทรของชาวอินเดียในภูมิภาคนี้