พระคาถาเยธัมมาในดินแดนสุวรรณภูมิ
พระคาถาเยธัมมาถือได้ว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา”
ความหมายของพระคาถาเยธัมมา - ทุกสิ่งล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิด คือ มีสาเหตุของการเกิดทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดขึ้นมาลอย ๆ ดังนั้นจะต้องรู้ขั้นตอนการเกิดและการดับเหตุของธรรมเหล่านั้น การเข้าไปดับซึ่งเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรรู้
ความเป็นมาของพระคาถาบทนี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ โดยพระอัสสชิ หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ชาวเมืองกบิลพัสด์ุ ได้ทำการออกบวชตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีแล้วขออุปสมบท จากนั้นจึงเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งก็คือ “พระคาถาเยธัมมา” และแสดงธรรมโปรดอุปติสสะปริพพาชก (พระสารีบุตร) จนเห็นแสงแห่งธรรม
เมื่อพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายไปยังรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย จารึกเยธัมมา ได้กระจายไปหลายที่ด้วยเช่นกัน เช่น ในบริเวณ เมือง โกสัมพี (Kosambi) รัฐอุตตรประเทศ เป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากในสมัยพุทธกาล ได้มีการสำรวจและขุดพบพระพุทธรูปที่นี่ พบว่ามีจารึกที่ฐานพระคาถาเยธัมมา อักษรสมัยคุปตะ พุทธศตวรรษที่ 8 ทำจากหินทรายแดงสูง 2 ฟุตเศษ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองประยาคราช หรือ อิลลาหบาด
ภายหลังเมื่อศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ พระคาถาเยธัมมา เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวพุทธในดินแดนแถบนี้ จากนั้นจึงเริ่มมีการบันทึกคาถานี้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในไทย เช่น บริเวณระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม จารึกนี้ถูกบันทึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุของตัวอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า
“ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคต ตรัสเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้“
การค้นพบหลักฐานชิ้นนี้ในดินแดนสุวรรณภูมิ จึงเป็นเครื่องบ่งบอกได้ชัดว่า คาถานี้มีความสำคัญเคียงคู่ไปกับพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาสูญสลายไปจากอินเดียที่พัฒนาการจากเถรวาทสู่แบบมหายาน ตันตระยาน และ วัชรยาน ตามลำดับ แต่ในส่วนดินแดนสุวรรณภูมินั้นยังคงพบจารึกคาถานี้ได้โดยทั่วไป