ประวัติศาสตร์ชาติมักอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนว่าเริ่มต้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเพดานอายุสมัยนี้เป็นปัญหาของประวัติศาสตร์ชาติที่เน้นไปที่ชนชาติไทย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนเก่าแก่ไปกว่านั้นมาก ระยะหลังมานี้ หลักฐานจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นพบในไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตภาคใต้ สะท้อนว่าไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมมานานกว่าที่เคยเข้าใจกัน
หลักฐานทางเหนือ
ที่วัดเกษมจิตตาราม ริมคลองโพธิ์ สาขาหนึ่งของแม่น้ำน่าน ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ดาบปลายของ้าวสำริดของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น และยังมีของอื่นๆ ที่พบด้วยที่สำคัญคือ กาน้ำสำริด ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่าอายุ 2,000-2,300 ปี
ดาบปลายของ้าวแบบนี้จีนเรียกว่า ‘ซวางเกอจี่’ (雙戈戟) ปกติจะต้องเข้าด้ามยาว ใช้รบบนหลังม้า และทหารกองหน้าตั้งรับกับม้า ใช้ได้ทั้งฟัน แทง และรับดาบของศัตรู ลวดลายบนอาวุธเป็นลายวนขดเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น จึงเป็นลายแบบราชวงศ์ฮั่น หมายถึง พระอาทิตย์ หรือลม อาวุธแบบนี้พบไม่มากในไทย ทั้งๆ ที่น่าสนใจ และควรศึกษาให้มากขึ้น
ของ้าวแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น พบที่วัดเกษมจิตตาราม จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ของพวกนี้เข้ามาในไทยได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานได้ 2 ทาง ทางแรก เข้ามาพร้อมกับการติดต่อกับกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน (อายุ 2,000-2,500 ปีมาแล้ว) ที่ผลิตกลองมโหระทึก ทางตอนเหนือของเวียดนาม โดยอาศัยแม่น้ำน่าน เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำโขง ผ่านที่ลาวไปทางหลวงพระบาง เมืองพวน ไปยังเวียดนาม ซึ่งในเวลานั้นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220/พ.ศ. 568-763) ได้แผ่อิทธิพลลงมาถึงแถบมณฑลกวางซี และตอนเหนือของเวียดนาม ของพวกนี้อาจเข้ามาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนทางการค้าในยุคต้น ทำให้ในเขตอุตรดิตถ์พบกลองมโหระทึกรุ่นแรกๆ หลายใบ
ทางที่สอง ของพวกนี้มีฐานะเป็นของขวัญที่ใช้ในการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการเมือง ไม่จากราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเอง ก็อาจจะเป็นกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมดองซอนที่รับมาจากราชวงศ์ฮั่นอีกทอดหนึ่ง เพราะอาวุธแบบซวางเกอจี่นี้พบในเขตวัฒนธรรมดองซอนด้วย แนวคิดปัจจุบันเชื่อว่ากลุ่มวัฒนธรรมดองซอนนี้มีทั้งกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกและไท จึงเป็นร่องรอยแรกๆ ว่าคนพื้นเมืองทางภาคเหนือติดต่อกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทมานานแล้ว
นอกเหนือจากที่อุตรดิตถ์แล้ว ผู้เขียนเคยได้ข่าวว่ามีการค้นพบในเขตภาคอีสาน และในเขตลพบุรีอีกด้วย เรื่องนี้น่าสนใจที่จะไปสืบค้นต่อ
หลักฐานทางใต้
ลงมาทางใต้ ในยุคที่การเดินทางอ้อมคาบสมุทรมลายูยังไม่พัฒนา พื้นที่บริเวณคอคอดกระจึงเป็นเส้นทางสำคัญ ตลอดทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยพบแหล่งโบราณคดียุคต้นที่พบหลักฐานสมัยราชวงศ์ฮั่น อินเดียโบราณ และดองซอนอยู่หลายแห่ง
นักโบราณคดีฝรั่งเศส เบเรนิซ เบลลินา (Bérénice Bellina) ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พบว่าเขาสามแก้วเป็นชุมชนการค้าระดับสากล และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2-9
หลักฐานที่แสดงการติดต่อกับจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้แก่ เครื่องถ้วยราชวงศ์ฮั่นที่พบเป็นจำนวนมากถึง 84 ชิ้น แบ่งเป็น 2 จำพวก พวกแรกใช้เทคนิคการปั้นด้วยขดดินแล้วตี และพวกที่สองใช้แป้นหมุนเพื่อขึ้นรูปภาชนะ
เมื่อพิจารณากันในรายละเอียดจากลวดลายประดับพบว่า มีทั้งแบบจีนตอนใต้ แบบจีนตะวันออก และแบบเวียดนามเหนือ ถือเป็นการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นนอกแผ่นดินจีนและข้างเคียงที่มากที่สุด นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว ยังพบเศษแก้วที่มีส่วนผสมของแร่โปแตชที่ผลิตจากจีนตอนใต้อีกด้วย
เศษภาชนะดินเผาแบบราชวงศ์ฮั่น พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร (บัญชา พงษ์พานิช และคณะ 2563:175)