- หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณดอนตาเพชร-อู่ทองนั้นเป็นศูนย์กลางการติดต่อที่สำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตคือการพบเครื่องประดับลิงลิงโอในเขตเมืองอู่ทอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อทางทะเลกับเวียดนามและหมู่เกาะในเอเชียอาคเนย์ อีกทั้งศาสตราจารย์บวสเซอลิเย่ก็ได้เสนอว่า อู่ทองเคยเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันในช่วงระยะหนึ่ง ในขณะที่มานิต วัลลิโภดมเชื่อว่าเมืองอู่ทองนั้นเก่าแก่ไปจนถึงสมัยสุวรรณภูมิ จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีต่างๆ (หน้า 117-118)
- การขุดค้นที่บ้านดอนตาเพชร นอกจากทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีในสมัยยุคเหล็กแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายการติดต่อทางทะเลทั้งทางอินเดียและเวียดนาม โดยพบเครื่องมือเหล็กที่มีความซักซ้อนของชนิดและหน้าที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านสังคม และยังมีการพบลูกปัด Atche beads และจี้รูปสิงห์เผ่นทำจากหินคาร์เนเลียน ซึ่งเป็นรูปแบบของอินเดียโดยตรง รวมไปถึงได้มีการพบจี้ลิงลิงโอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลเวียดนามพร้อมกันสิ่งของอื่นๆที่มีการผลิตในพื้นที่ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่บริเวณดอนตาเพชรเป็นบริเวณที่ตะวันตกมาพบตะวันออก ซึ่งนอกจากบริเวณดอนตาเพชรแล้วยังพบแหล่งโบราณคดีที่พบวัตถุเหล่านี้ตามเขตคาบสมุทรทางตอนใต้ของไทยอีกด้วย (หน้า 119-120)
- จากหลักฐานที่พบตั้งแต่สมัยยุคเหล็ก แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองนั้นเป็นบริเวณศูนย์กลางของการค้าตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ดินแดนบริเวณนี้เป็นสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนที่ชาวอินเดียหวังมาตามหาความมั่งคั่ง ดังที่ปรากฏในพระมหาชนกชาดก อีกทั้งความหนาแน่นของโบราณวัตถุอิทธิพลอินเดียที่พบในบริเวณนี้นั้นมีสูงมากกว่าบริเวณอื่นใดใน จึงสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าพื้นที่แห่งนี้คือดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (หน้า 122-123)
- พัฒนาการของพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้นมีการขยายตัวต่อเนื่องมาจนได้รับอิทธิพลอินเดียที่เข้มข้น โดยมีจุดเด่นเป็นแหล่งชุมชนที่มีเมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่และมีความซับซอนทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับแหล่งเล็กที่เป็นบริวาร โดยแต่ละแห่งก็มีหัวหน้าหรือเจ้าเมืองดูแล ซึ่งเจ้าเมืองเหล่านี้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ทำการติดต่อค้าขายกับดินแดนอื่นๆ โดยเฉพาะกับอินเดีย (หน้า 124-125)
- การเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียนั้น เริ่มแรกได้มีการสันนิษฐานโดยนักวิชาการต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ว่าเป็นการเข้ามาขยายอาณานิคมโดยการปราบปรามชาวพื้นเมืองและการแต่งงานกับคนท้องถิ่นเพื่อกลืนกินวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการดูถูกชาวพื้นเมืองเป็นอย่างมาก จนทำให้นักวิชาการหลายท่านขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่าเป็น Indianised state แต่จากหลักฐานที่พบเพิ่มเติม พบว่าสุวรรณภูมิในสมัยดังกล่าวได้มีการพัฒนาเป็นเมืองที่มีความเจริญ ดังที่กล่าวไปแล้วอีกทั้งชาวอินเดียคงไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมและศาสนาเข้ามา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ลังกาเองก็ได้มีความเจริญเป็นอย่างมากแล้วเช่นกัน ดังนั้นศาสนาและวัฒนธรรมนั้นจึงน่าจะเป็นการเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองมากกว่าการตกเป็นอาณานิคม (หน้า 125-126)
- ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์หรือผู้นำในสมัยดังกล่าวก็มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงจะพบได้ว่าการศึกษาวัฒนธรรมและศาสนานั้นไม่สามารถแยกออกจากสถาบันกษัตริย์ได้ ซึ่งก่อนหน้าที่ศาสนาจากอินเดียจะเข้ามานั้นจะเห็นได้ว่าชุมชนมีการนับถือพิธีกรรมและความเชื่อต่างๆอยู่ก่อนแล้ว ดังที่เห็นได้จากพิธีกรรมการฝังศพ พิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ การพบกลองสำริด และการกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เมื่อต่อมาการรับเอาวัฒนธรรมอินเดียส่งเสริมให้สถานะของผู้นำนั้นสูงขึ้นในฐานะของกษัตริย์ การรับเอาวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาจึงเป็นเพราะว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้นำมากกว่า ดังนั้นสุวรรณภูมิจึงไม่ใช่ดินแดนเถื่อนที่ไม่มีวัฒนธรรมมาก่อนอินเดียจะเข้ามา แต่มีเป็นดินแดนที่รับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาพัฒนาสังคม (หน้า 127-132)
- สุวรรณภูมิในฐานะศูนย์กลางการค้านั้นสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคเหล็ก จนกระทั่งมีการเข้ามาของการค้าจีนในราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 ราชวงศ์ฮั่นของจีนได้พัฒนาความรู้ในการเดินเรือของตนจนกระทั่งทำให้การค้าจีนนั้นเป็นใหญ่ในทะเลทางแถบนี้ ในขณะที่ก่อนหน้านั้น การเดินเรือเข้ามาติดต่อดินแดนสวรรณภูมินั้นต้องอาศัยเรือของท้องถิ่นเข้ามา โดนการขยายตัวของอิทธิพลจีนนั้นมีหลักฐานคือหลุมศพของชาวฮั่นในเวียดนามเหนือ และภาชนะดินเผารวมถึงวัตถุเครื่องใช้สมัยราชวงศ์ฮั่นที่พบตามชุมชนโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการเข้ามาของการค้าจีนนี้ ทำให้สถานะของสุวรรณภูมิในนฐานะของของเมืองศูนย์กลางการค้า เปลี่ยนไปเป็นเส้นทางผ่านของสินค้าจากตะวันตกและตะวันออก หากแต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ส่งผลให้สุวรรณภูมินั้นเสื่อมถอยลง แต่กลับมีการพัฒนาของเมืองสำคัญ เช่น เมืองอู่ทอง และควนลูกปัดขึ้น ในขณะที่บริเวณใกล้เคียงก็เกิดการพัฒนาของเมืองออกแอวซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญของฟูนัน ดังนั้นความสำคัญของสุวรรณภูมิในฐานะศูนย์กลางการค้าและการติดต่อของตนเองนั้นได้หายไปแต่กลับมีพัฒนาการของเมืองต่างๆขึ้นมาแทน โดยฟูนันได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าแทน (หน้า 133-136)
- พัฒนาการของฟูนันนั้นมีส่วนทำให้ดินแดนสุวรรณภูมิเข้าสู่สมัยใหม่ คือเป็นดินแดนที่รับเอาวัฒนธรรมอินเดียอย่างชัดเจน และการเมืองระหว่างรัฐใหญ่และรัฐเล็กนั้นมีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองที่สำคัญ จนทำให้นักวิชาการหลายท่านมองว่าอู่ทองนั้นเป็นเมืองหลวงของฟูนัน เนื่องจากมีหลักฐานที่หนาแน่นมากกว่าออกแอว แต่ผู้เขียนนั้นไม่เห็นด้วย เนื่องจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์นั้นไม่ต้องตรงกัน ดังนั้นอู่ทองจึงน่าจะเป็นเมืองที่ สืบต่อความเจริญมาจากสุวรรณภูมิที่ร่วมสมัยฟูนัน (หน้า 138-140)
- พัฒนาการของดินแดนสุวรรณภูมินั้นต่อเนื่องมากเรื่อยๆจนเริ่มเกิดเป็นอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ศรีเกษตร เจนละ จามปา เป็นต้น ซึ่งพัฒนาการต่อเนื่องนี้สามารถยกตัวอย่างได้จากเมืองอู่ทองและนครปฐม ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เรื่องมาจนถึงทวารวดี และอยุธยา ดังที่มีการกล่าวถึงเมือง “สุพรรณภูมิ” ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หน้า 140-150)