สถานที่พบ | เมืองโบราณจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
สถานที่จัดเก็บ | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
วัสดุ | งาช้าง |
ขนาด |
กว้าง : 7 เซนติเมตร ยาว : 11 เซนติเมตร หนา : 0.6 เซนติเมตร |
อายุ | ระหว่าง ปี พ.ศ. 701 ถึง 900 |
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ | เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ หวีงาช้าง |
คำอธิบาย |
หวีงาช้าง ที่ขุดพบที่เมืองจันเสน เมื่อพ.ศ. 2511-2512 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพิพธภัณฑสถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มี ดร. ยอร์ช เดลส์ และนายสมพร อยู่โพธิ์ เป็นผู้อำนวยการ และนายเบนเนต บรอนสัน เป็นผู้อำนวยการสนาม
การค้นพบหวีงาช้างในชั้นดินระยะที่ 2 จากการขุดค้นในครั้งนั้น นับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างดินแดนสุวรรณภูมิกับอินเดียในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-8 ซึ่งเป็นยุคที่อารยธรรมต่าง ๆ เติบโตอย่างรุ่งเรือง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ได้อธิบายลวดลายของหวีงาช้างทั้งสองด้านไว้ว่า "สภาพของหวีนั้นชำรุดแตกหักตรงบริเวณซี่ และด้านบนมีการทำภาพสลักอยู่ทั้ง 2 ด้าน ลวดลายที่ทำนั้น มีนักวิชาการสันนิษฐานว่า ลวดลายเปรียบเทียบได้กับศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ 6-8) ลวดลายนั้นแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นรูปหงส์ อีกด้านจะแบ่งเป็นลาย 2 แถว ด้านบนเป็นสัญลักษณ์มงคล 8 อย่างตามคติอินเดีย โดยเรียงลำดับจากซ้ายมาขวา ดังนี้ พระอาทิตย์ (หรือพระจันทร์) หม้อปูรณฆฏะ รวงผึ้ง ศรีวัตสะ ฉัตร สังข์ แส้จามร และพระจันทร์(หรือพระอาทิตย์) และมีลายรูปม้าอยู่ด้านล่าง"
สันนิษฐานว่า หวีเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย โดยเฉพาะเมืองตักสิลาและอุชเชน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าขายงาช้างสลักในสมัยนั้น (รวมทั้งเมืองมถุรา และเมืองวิทิศา) โดยหวีที่เก่าแก่ที่สุดพบที่เมืองอุชเชน (400-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่วนที่เมืองตักสิลาพบในชั้นวัฒนธรรมสมัยศกะ-ปาเถียน (100 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศักราช 100)
หวีงาช้างมีรูปทรงหลากหลาย เช่น สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจตุรัส หรือรูปไข่ มีทั้งแบบมีลวดลายและไม่มีลวดลายดลาย หากมีลวดลายก็จะเป็นลวดลายที่สื่อถึงความเชื่อและศิลปะของอินเดีย เช่น สิงห์ ช้าง เทพี พืชพันธุ์ สังข์ ฯลฯ
การค้นพบหวีงาช้าในอินเดียนั้น เซอร์จอห์น มาร์แชล (Sir John Hubert Marshall) นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบของหวีงาช้างที่พบในอินเดียมีความคล้ายคลึงกับหวีที่นิยมใช้ในกรีกและโรมัน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตกในสมัยนั้น
สำหรับเมืองจันเสนนั้นจากการศึกษาพบว่า เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่มีพัฒนาการจากชุมชนเกษตรกรรมในยุคโลหะตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการตั้งนิคมการค้าของชาวอินเดียตั้งแต่สมัยอินโด-โรมัน และกระจายสินค้าไปตามแหล่งโบราณคดีบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก
การค้นพบหวีงาช้างที่เมืองโบราณจันเสน ได้ยืนยันถึงเครือข่ายการค้าระหว่างชุมชนบริเวณในพื้นที่นครสวรรค์ ชุมชนในบริเวณลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก และอินเดีย ในช่วงสมัยอินโด-โรมันเป็นต้นมา |
ข้อสังเกตอื่น ๆ | หวีงาช้างนี้เป็นหวีงาช้างจากอินเดียชิ้นที่สันนิษฐานว่าเก่าแก่สุดโดยย้อนไปถึงยุคอินโด-โรมัน และในปัจจุบันการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมามีข้อมูลการค้นพบหวีลักษณะนี้เพียงชิ้นเดียว |
อ้างอิง/เผยแพร่ |
ผาสุข อินทราวุธ. (2542). ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. (2556). มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม. มิวเซียมเพรส. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และมงคล เปลี่ยนบางช้าง. (2540). คู่มือนำชมพิพิธภัณฑ์จันเสน. โรงพิมพ์ยิ่งเจริญการพิมพ์. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). (2539). สังคมและวัฒนธรรม จันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก. เรือนแก้วการพิมพ์. สุภรณ์ โอเจริญ (บรรณาธิการ). (2528). นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. วิทยาลัยครูนครสวรรค์. Bronson, B. & Dales, G. F. (1972). Excavations at Chansen, Thailand, 1968 and 1969: A Preliminary Report. Asian Perspectives, xv, 15-48.
|