หน้าแรก แหล่งโบราณคดี ภูเขาทอง

ภูเขาทอง

ที่ตั้ง ม.4 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
พิกัด 9.379845 N, 98.421857 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี พ.ศ. 1201 ถึง 1400
แหล่งน้ำสำคัญ ทะเลอันดามัน,คลองกำพวน,คลองพรุใหญ่,คลองเสียด
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ ลูกปัด ทองคำ โรมัน กลองมโหระทึก ลูกปัดอินโด-แปซิฟิก จังหวัดระนอง ตราประทับแบบอินทากลิโอ ตรีรัตนะ
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

411

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

1 ม.ค. 2513

ภูเขาทอง

team
  • สภาพแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง
ชื่อแหล่ง : ภูเขาทอง
ที่ตั้ง : ม.4 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
พิกัด : 9.379845 N, 98.421857 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี พ.ศ. 1201 ถึง 1400
แหล่งน้ำสำคัญ : ทะเลอันดามัน,คลองกำพวน,คลองพรุใหญ่,คลองเสียด
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : ลูกปัด ทองคำ โรมัน กลองมโหระทึก ลูกปัดอินโด-แปซิฟิก จังหวัดระนอง ตราประทับแบบอินทากลิโอ ตรีรัตนะ
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น สุวรรณภูมิ
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 1 ม.ค. 2513

-ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548): ขุดค้นโดยสำนักศิลปากรที่ 15 (ภูเก็ต) จำนวน 2 หลุมขุดค้น (สำนักศิลปากรที่ 15 กรมศิลปากร 2548)

 

- ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550): ปรีชา นุ่นสุข และวัณณสาส์น นุ่นสุข ได้เขียนบทความเรื่อง “ภูเขาทอง: สถานีการค้ายุคต้นบนฝั่งอันดามัน.” ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2550) หน้า 70-78

 

- ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552): นฤมล กางเกตุ ได้ทำวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตในเรื่อง “เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดระนอง” ซึ่งได้จำแนกประเภทของเครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีและรอบๆแหล่งโบราณคดีทั้งจากการสำรวจและขุดค้น

 

- ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552): ปิลันธน์ ไทยสรวง ทำวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตในเรื่อง “การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ของประเทศไทย” ซึ่งได้กล่าวถึงประเภทของเครื่องปั้นดินเผาที่พบที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทองว่ามีความเก่าแก่ยาวไกลไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 5

 

- ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) บุญยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ได้ทำการขุดค้นเบื้องต้นและปรากฏผลงาน รายงานการขุดค้นเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีปากจั่น ต.ปากจั่น  อ.กระบุรี  จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน - 15 กรกฎาคม  พ.ศ. 2553.

 

แหล่งโบราณคดีภูเขาทองมีการติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเล ที่มีการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าพื้นเมืองในแถบนี้ได้แก่ เครื่องเทศ ของป่า อาจรวมไปถึงดีบุกซึ่งเป็นโลหะที่มีอยู่มากมายในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญที่พบอีกแหล่งหนึ่งในประเทศไทย

สำหรับอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนืองยาวนาน เนื่องจากมีการขุดค้นทางโบราณคดีในชั้นดินบน ๆ พบเครื่องถ้วยเปอร์เซีย หรือบาสราแวร์ (Basra ware) ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาจากตะวันออกกลางมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ดังนั้นในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงน่าจะมีอายุประมาณ 1,200-2,000 ปีมาแล้ว จากลักษณะทางกายภาพและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูอันเป็นจุดปะทะของเส้นทางการเดินเรือนั้น พ่อค้าชาวอินเดียได้พากันมาตั้งนิคมการค้าตามเมืองท่าต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งวรรณกรรมโบราณของอินเดียเรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิ ดังได้ปรากฏสินค้าจากเมืองท่าต่าง ๆ ของอินเดียที่มีการตั้งสถานีการค้าของโรมัน จึงมีทั้งสินค้าของอินเดียและโรมันรวมทั้งสินค้าเลียนแบบโรมันหลั่งไหลเข้ามายังเมืองท่าโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากจะมีพ่อค้าชาวอินเดีย พ่อค้าซิเถียนแล้ว อาจมีพ่อค้าชาวโรมันเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง รวมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วย บ้านบางกล้วยนอก และเขากล้วย(บางคลัก) เรียกรวมว่า กลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง นั้นในพื้นที่แถบนี้พบลูกปัดทั้งแก้ว และหินเป็นจำนวนมาก และมีหลักฐานมากพอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากพบก้อนแก้ว หิน วัตถุดิบในการทำลูกปัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งลูกปัดแก้วที่หลอมรวมติดกันเป็นก้อน และลูกปัดหินที่ยังทำไม่เสร็จเป็นจำนวนมาก ลูกปัดแก้วที่พบส่วนใหญ่เป็นลูกปัดสีเดียวที่เรียกว่า “ลูกปัดอินโดแปซิฟิค” ส่วนลูกปัดหินพบหินคาร์เนเลียน หินอาเกต เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้พบลูกปัดที่ระบายสีด้วยกรดลงบนเนื้อหินจนเกิดเป็นลายแบบที่เรียกกันว่า etched beads รวมอยู่ด้วย

 

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดกับบ่อกุ้ง ถัดจากบ่อกุ้งเป็นป่าชายเลน และทะเลอันดามัน ภูเขาทองอยู่ห่างจากทะเลอันดามันประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่ด้านทิศตะวันออกติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 700 ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กับอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีภูเขาทองอยู่ตอนใต้ของจังหวัดระนองอยู่ห่างจาก จังหวัดระนองประมาณ 98 กิโลเมตร

นฤมล กางเกตุ. “เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดระนอง” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร 2552.

 

บุญยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. รายงานการขุดค้นเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีปากจั่น ต.ปากจั่น  อ.กระบุรี  จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน - 15 กรกฎาคม  พ.ศ. 2553. ภูเก็ต: สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต, 2553.

 

ปรีชา นุ่นสุข และวัณณสาส์น นุ่นสุข. “ภูเขาทอง : สถานีการค้ายุคต้นบนฝั่งอันดามัน” เมืองโบราณ. 33. 2. (เม.ย.-มิ.ย. 2550) : 70-78.

 

ปิลันธน์ ไทยสรวง. “การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร 2552.

 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 2562. สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก. กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน).

 

สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูเขาทองหมู่ 4 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง. ภูเก็ต : กรมศิลปากร 2548.