หน้าแรก แหล่งโบราณคดี คลองท่อม

คลองท่อม

ที่ตั้ง บ้านควนปลายนา ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่
พิกัด 7.925014 N, 99.151941 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี พ.ศ. 200 ถึง 1200
แหล่งน้ำสำคัญ คลองท่อม
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ ก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น โรมัน ราชวงศ์ฮั่น กลองมโหระทึก อินเดีย ราชวงศ์ถัง จังหวัดกระบี่ ลูกปัดคาร์เนเลียน วัฒนธรรมซาหวิ่น ลูกปัดสุริยะเทพ ตราประทับกรีก-โรมัน
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

467

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

5 ธ.ค. 2565

คลองท่อม

team
  • คลองท่อม
ชื่อแหล่ง : คลองท่อม
ที่ตั้ง : บ้านควนปลายนา ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่
พิกัด : 7.925014 N, 99.151941 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี พ.ศ. 200 ถึง 1200
แหล่งน้ำสำคัญ : คลองท่อม
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : ก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น โรมัน ราชวงศ์ฮั่น กลองมโหระทึก อินเดีย ราชวงศ์ถัง จังหวัดกระบี่ ลูกปัดคาร์เนเลียน วัฒนธรรมซาหวิ่น ลูกปัดสุริยะเทพ ตราประทับกรีก-โรมัน
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ศรีวิชัย ยุคโลหะ ยุคหินใหม่
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 5 ธ.ค. 2565

- ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509): ชาวบ้านพบลูกปัดกันมานาน แต่ไม่ได้สนใจ จนกระทั่งใน พ.ศ.2509 พระครูอาทรสังวรกิจ (พระสวาส กนฺตสงฺวโร) เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมและเจ้าคณะอำเภอคลองท่อม ได้ทำการเก็บรวบรวมลูกปัดและโบราณวัตถุต่างๆ มาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ประจำวัด รวมถึงบางส่วนที่ชาวบ้านนำมาบริจาคให้ นอกจากนี้แล้ว บางส่วนท่านยังได้นำไปมอบให้กับกรมศิลปากร เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช 

 

- ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516): มานิต วัลลิโภดม และศรีศักร วัลลิโภดม ได้เดินทางมาสำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตแก้ว ลูกปัด และหลอมโลหะประเภทดีบุก ดังนั้น จึงได้เสนอว่าเป็นเมืองท่าโบราณสำคัญที่ติดต่อกับโลกตะวันตก และต่อมาศรีศักร ได้เสนอว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองท่าตักโกลา (ตะโกละ) ที่บันทึกของปโตเลมี ไม่ใช่เมืองโบราณทุ่งตึกที่เคยมีการเสนอกัน (ศรีศักร ได้เขียนบทความเรื่อง "ควนลูกปัดและแผ่นดินบก โบราณวิทยาในภาคใต้," ตีพิมพ์ใน อาษา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กันยายน), 2516, น. 47-52)

 

- ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522): ดักกลาส ดี. แอนเดอร์สัน (Douglas D. Anderson) และ ดร.พรชัย สุจิตต์ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีคลองท่อมเป็นเมืองท่าสำคัญที่แสดงถึงการค้ากับต่างประเทศทางด้านตะวันตกของไทย ซึ่งควรมีการขุดค้นทางโบราณคดี (มีบทความเรื่องหนึ่งพิมพ์เผยแพร่คือ "การสำรวจเบื้องต้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดกระบี่," ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช, ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2, หน้า 1-8.)

 

- ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523): กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีคลองท่อมอีกครั้งหนึ่ง (ในบทความเรื่อง "ควนลูกปัด," ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช. 2524 (เอกสารอัดสำเนา))

 

- ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527): มยุรี วีระประเสริฐ, สมิทธิ ศิริภัทร์, และปฐมฤกษ์ เกตุทัต ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ และมยุรี ได้เขียนบทความเรื่อง "แหล่งโบราณคดีที่ควนลูกปัด อ.คลองท่อม จ.กระบี่" 

 

 

          เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตลูกปัดในระดับอุตสาหกรรม พื้นที่ของแหล่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง มีแหล่งโบราณคดีย่อยหลายจุด (locations) ซึ่งจากการสำรวจสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 จุดด้วยกัน ที่นี่ยังพบเรือเครื่องผูกอีกด้วยแสดงให้เห็นว่าเดิมคงมีเรือขนาดกลางเข้ามาจอดได้ถึงตัวแหล่งโบราณคดี ในบรรดาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว จุดที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษและยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีคือ บริเวณไร่ของนายโทน สมาชิกองค์การบริหารเทศบาล บริเวณนี้มีลักษณะคล้ายกับการขุดคูน้ำล้อมรอบเป็นวงกลม มีขนาด 7.41 เฮกตาร์ กว้างxยาวประมาณ 240 เมตร โดยบริเวณดังกล่าวนี้เคยพบซากเรือด้วย

       แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดมีหลักฐานหลายประเภท ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยศรีวิชัยตอนต้น อาจมีอายุตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว ถึง 1,200 ปีมาแล้ว หลักฐานทั้งที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์คลองท่อม และเอกชน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

          - สมัยหินใหม่ พบหม้อสามขา

          - สมัยโลหะ หรือ กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ พบการติดต่อกับอินเดีย โรมัน และซาหวิ่น หลักฐานที่พบได้แก่ ลูกปัดสุริยะเทพ (ลูกปัดหน้าคน), ตราประทับกรีก-โรมัน (Intaglio และ cameo), ลูกปัดโมเสคแบบโรมัน, ลูกปัดคาร์เนเลียน อะเกต อเมทิสต์ และอื่นๆ ยกเว้นหยกเนไฟร์ตที่แทบไม่พบ, ลูกปัดแบบอินโดแปซิฟิก, ลูกปัดทองคำ, ตราประทับอักษรพราหมีและปัลลวะ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการผลิตลูกปัดลม, การผลิตดีบุก, การถลุงเหล็ก, ภาชนะดินเผาจากอินเดีย, ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก, และชิ้นส่วนของเรือเครื่องผูก เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเหรียญสมัยราชวงศ์ฮั่น เหรียญพระเจ้ากนิษกะ เหรียญทองคำของโรมันและที่เลียนแบบโรมัน และเหรียญอินเดียราชวงศ์สตวาหนะอีกด้วย ย่อมสะท้อนว่าคลองท่อมเป็นศูนย์กลางการค้า

          - สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หรือ ศรีวิชัยตอนต้น พบศิวลึงค์, ภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง, เครื่องถ้วยเปอร์เซีย, และลูกปัดประเภทต่างๆ

         นอกเหนือจากแหล่งโบราณคดีคลองท่อมแล้วพบว่ายังมีแหล่งโบราณคดีที่พบหลักฐานร่วมกับคลองท่อมอีก 3 แห่งได้แก่ แหล่งโบราณคดีบนเกาะฮั่ง แหล่งโบราณคดีคลองพน และแหล่งโบราณคดีคลองจาก เกาะลันตา ทั้งสามแห่งนี้ที่เกาะลันตาพบหลักฐานมากที่สุดและเหมือนกันกับที่คลองท่อม ความน่าสนใจของแหล่งโบราณคดีทั้งสามแห่งคืออยู่บนเส้นทางการเดินเรือของชาวอูรักลาโวยจ์ในสมัยโบราณ 

มีจุดที่สามารถท่องเที่ยวได้ 2 จุด คือ 

1. พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ สมัยก่อนเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ แต่ภายหลังจากสถานการณ์โควิด หากต้องการเข้าชมจะต้องแจ้งเทศบาลคลองท่อมใต้เสียก่อน ที่ https://www.khlongthomcity.go.th/ 

2. บริเวณสวนยางใกล้กับบ้านควนปลายนา ฟาร์มสเตย์ ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังพบลูกปัดและภาชนะดินเผาขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วไป

 

 

มยุรี วีระประเสริฐ. "แหล่งโบราณคดีที่ควนลูกปัด อ.คลองท่อม จ.กระบี่," เมืองโบราณ 10 (1) (ม.ค.-มี.ค.2527), หน้า 133-136.