หน้าแรก แหล่งโบราณคดี โนนป่าหวาย

โนนป่าหวาย

ที่ตั้ง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
พิกัด 14.97331 N, 100.67517 E
อายุสมัย ระหว่าง 3950 ถึง 1450 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ ห้วยโป่ง
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ จังหวัดลพบุรี ถลุงโลหะ อุตสาหกรรมโลหะ
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

355

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

17 พ.ย. 2565

โนนป่าหวาย

team
ชื่อแหล่ง : โนนป่าหวาย
ที่ตั้ง : ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
พิกัด : 14.97331 N, 100.67517 E
อายุสมัย : ระหว่าง 3950 ถึง 1450 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ : ห้วยโป่ง
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : จังหวัดลพบุรี ถลุงโลหะ อุตสาหกรรมโลหะ
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ทวารวดี ยุคหินใหม่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ยุคโลหะ
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 17 พ.ย. 2565

ค.ศ.1986–1992 (พ.ศ.2529-2535): โครงการโบราณคดีโลหวิทยา (Thailand Archaeometallurgy Project) ภายใต้กรมศิลปากร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในบริเวณเขาวงพระจันทร์ หนึ่งในนั้นคือ แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย

ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับตำบลห่วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โนนป่าหวายเป็นหนี่งในแหล่งเหมืองแร่ถลุงทองแดงที่สำคัญในย่านเขาวงพระจันทร์ มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินขนาดเนื้อที่ประมาณ 50,000 ตารางเมตร

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยหินใหม่ โดยพบแหล่งฝังศพ ร่วมกับภาชนะดินเผาเนื้อดินตกแต่งลาย เครื่องประดับจากหินกรวด กำไลหิน เปลือกหอย และเครื่องมือหินขัด สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องอุทิศในพิธีกรรมฝังศพ ซึ่งใกล้เคียงกับลักษณะของโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีท่าแค และแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณที่ราบสูงโคราช

 

ต่อมาพบร่องรอยการอยู่อาศัยต่อเนื่องถึงสมัยสำริด จากการพบร่องรอยตะกรัน และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรมโลหะ เช่น ตะกรันจากการถลุงทองแดง แม่พิมพ์ดินเผาแบบสองชิ้นประกบ และรูปทรงถ้วยที่ทับถมหนาเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร โดยสันนิษฐานว่าเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิต และถลุงทองแดง ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมการถลุงโลหะที่หนาแน่นในอดีต โดยผลผลิตหลักของแหล่งอุตสาหกรรมโนนป่าหวาย ได้แก่ ก้อนทองแดงขนาดเล็ก (Ingot) ที่มีคุณลักษณะเอื้ออำนวยต่อการวัดปริมาณในการนำไปผสมดีบุก และตะกั่วในการทำสำริด ดังนั้นจึงจึงสันนิษฐานว่าในช่วงเวลานี้โนนป่าหวายได้พัฒนากลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตทองแดงขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่กระจายทรัพยากร หรือแลกเปลี่ยนค้าขายกับชุมชนอื่น ซึ่งสันนิษฐานว่าอุตสาหกรรมนี้ดำเนินต่อเนื่องจนถึงสมัยทวารวดีตอนต้น  

-

Charles Higham and Fiorella Rispoli. “A Prehistoric Copper-production centre in central Thailand : Its dating and wider implications” Antiquity. Vol.94 (376). pp.948-965, 2020.

 

Fiorella Rispoli, Roberto Ciarla & Vincent C. Pigott. “Establishing the Prehistoric Cultural Sequence for the Lopburi Region, Central Thailand” Journal of world Prehistory. Vol.26 No.2. June. pp. 101-171, 2013.

 

Loredana Carratoni, “Ceramics from Prehistoric Non Pa Wai, Central Thailand : A Preliminary Petrographic Investigation”. Archaeological Research in Asia. Vol.16, December. 2018.

 

สุรพล นาถะพินธุ. “โบราณวิทยาเรื่องโลหะสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ดำรงวิชาการ. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1, เดือน ม.ค. - มิ.ย. 2557.