หน้าแรก แหล่งโบราณคดี บ้านโป่งมะนาว

บ้านโป่งมะนาว

ที่ตั้ง ม.7 บ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
พิกัด 14.916562 N, 101.246642 E
อายุสมัย 3,500 - 1,500 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ แม่น้ำป่าสัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ หลุมฝังศพ จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เทคโนโลยีด้านโลหะ พิธีกรรมหลังความตาย
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

314

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

26 ต.ค. 2565

บ้านโป่งมะนาว

team
ชื่อแหล่ง : บ้านโป่งมะนาว
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
พิกัด : 14.916562 N, 101.246642 E
อายุสมัย : 3,500 - 1,500 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ : แม่น้ำป่าสัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : หลุมฝังศพ จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เทคโนโลยีด้านโลหะ พิธีกรรมหลังความตาย
ยุคสมัย : ยุคเหล็ก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 26 ต.ค. 2565

ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543):

  - เดือนกุมภาพันธ์ มีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในบริเวณวัดโป่งมะนาว ตำรวจจึงได้เข้าจับกุม หลังจากนั้นวัดโป่งมะนาว คณะกรรมการหมู่บ้านโป่งมะนาว และผู้นำองค์กรต่างๆในท้องถิ่นตำบลห้วยขุนราม ได้ขุดขยายหลุมขุดหาโบราณวัตถุเพื่อปรับปรุงให้เป็นหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ และยังรวบรวมโบราณวัตถุที่พบมาจัดแสดงไว้ที่วัดโป่งมะนาว โดยหวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้มาดำเนินการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดี และการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดโป่งมะนาว

  - เดือนตุลาคม พ.ศ.2543 รศ.สุรพล นาถะพินธุ นำนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาขุดตกแต่งหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ที่ชาวบ้านโป่งมะนาวได้ขุดปรับปรุงมาจากหลุมขุดหาโบราณวัตถุ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโป่งมะนาว โดยได้รับทุนสนับสนุนค่าอาหารจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544):

  - เดือนตุลาคม หมู่บ้านโป่งมะนาว ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม และชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนราม จัดทำ “โครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว” โดยได้รับความร่วมมือจากคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นผู้ดำเนินการขุดค้นระหว่างวันที่ 8-31 ตุลาคม พ.ศ.2544 โดย รศ.สุรพล นาถะพินธุ ได้นำนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 1 (SQ1) ซึ่งมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สวนสะเดาหรือพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของเขตวัดโป่งมะนาว และอยู่ถัดไปทางเหนือของหลุมจัดแสดงโครงกระดูกที่ถูกจัดทำไว้เมื่อ พ.ศ.2543

 

ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) :

  -  เดือนมีนาคม ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นำนักศึกษาภาควิชาโบราณคดีไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ระหว่างวันที่ 13-29 มีนาคม พ.ศ.2545

  - ระหว่างวันที่ 11-30 ตุลาคม พ.ศ.2545 “โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว” ขุดค้นต่อในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3 เพิ่มเติม รวมทั้งได้เริ่มขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 4 (SQ4) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องทางด้านทิศใต้ของหลุมขุดค้นหมายเลข 1 มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร การขุดค้นในครั้งนี้ พบโครงกระดูกหลายโครงในทุกหลุมขุดค้น (สุรพล นาถะพินธุ 2550: 106-107)

  - วันที่ 1-30 ธันวาคม พ.ศ.2545 “โครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว” ร่วมมือกับ Dr.Roberto Ciala และ Dr.Fiorella Rispoli จาก National Museum of Oriental Arts และ Istituto Italiano per L’Afrique ed Asie Orientale ประเทศอิตาลี ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อีกครั้ง การขุดค้นของคณะโบราณคดีชาวอิตาลีนั้นได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอิตาลี และเป็นการขุดค้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาร่องรอยของพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่บ้านโป่งมะนาว

 

ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546):

  -  ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาวิชาเอกโบราณคดี มาทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ระหว่างวันที่ 13-29 มีนาคม พ.ศ.2546 โดยทำการขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 2, 3 และ 4 ต่อเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2545

  -  ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม พ.ศ.2546 โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ดำเนินการขุดค้นผนังดินคั่นระหว่างหลุมขุดค้นหมายเลข 1 และ 4 ให้หลุมขุดค้นทั้งสองต่อเนื่องกัน

 

ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547):

  -   โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ได้เข้ามาทำการศึกษาอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 19 พฤษภาคม พ.ศ.2547 วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือเพื่อหาพื้นที่อยู่อาศัย และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน ณ ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยได้ทำการขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 ต่อเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2546 และยังได้ทำการขุดค้นในหลุมขุดค้นใหม่ คือหลุมขุดค้นหมายเลข 10 (SQ10) ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ขอบด้านทิศตะวันตกของเนินแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดที่ลำห้วย 2 สาย ไหลมาบรรจบกัน ปี พ.ศ 2549

  -  ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาวิชาเอกโบราณคดีมาขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวอีกครั้ง ในวันที่ 4-18 มีนาคม พ.ศ.2549 วัตถุประสงค์ของการขุดค้นในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรวบรวมหลักฐานในเขตพื้นที่สุสานเพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นการขุดค้นเพื่อตรวจสอบขอบเขตและรอยต่อระหว่างพื้นที่สุสานกับพื้นที่อยู่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ปี พ.ศ 2550

  - “โครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านน้ำสุด ตำบลน้ำสุด อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี” ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ลพบุรี-ป่าสัก ในเขตจังหวัดลพบุรี” ในความรับผิดชอบของ รศ.สุรพล นาถะพินธุ ได้ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน พ.ศ.2550 โดยได้ทำการขุดค้นขยายหลุมขุดค้นหมายเลข 1 และ 4 ไปทางด้านทิศตะวันตกอีก 1 เมตร นอกจากนี้ยังได้เริ่มดำเนินการขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 18 (SQ18) ซึ่งอยู่ติดกับหลุมขุดค้นหมายเลข 14 ทางด้านทิศ

 

ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557):

  - อาจารย์ นักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท ของภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวอีกครั้งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2557 โดยขุดค้นขยายหลุมขุดค้นเดิมคือ SQ1 SQ2 SQ3 SQ4 และ SQ10 มีการกำหนดหมายเลขหลุมขุดค้นใหม่ที่ขุดขยายจากหลุมขุดค้นเดิมเป็น TP1-TP8 (TP1 TP2 ขยายหลุม SQ1 SQ4, TP5 TP6 TP7 TP8 ขยายหลุม SQ10, TP5-8 ขยายหลุม SQ2 SQ3) นอกจากนี้ ยังมีการการขุดค้นในหลุมใหม่ อยู่พื้นที่ด้านทิศใต้ของเนิน ใกล้กับลำห้วยสวนมะเดื่อ

  - ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่งตัวอย่างลูกปัดเปลือกหอยที่พบร่วมกับโครงกระดูกที่ถูกฝังอยู่ชั้นล่างสุดของหลุมขุดค้นที่ 10 ไปกำหนดอายุด้วยวิธี AMS ที่มหาวิทยาลัยไวกาโต (University of Waikato) ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ค่าอายุ 2989±25 BP หรือ 2964-3014 ปีมาแล้ว

จากการขุดค้นและศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าบริเวณบ้านโป่งมะนาวเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนและสุสานยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 สมัยใหญ่

 

สมัยที่ 1 เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยแรกสุดของบ้านโป่งมะนาวอาจเป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก มีอายุเก่าแก่ถึง3,500-3,000 ปีมาแล้ว โบราณวัตถุในสมัยนี้ประกอบไปด้วย เครื่องมือหินขัด ลูกปัดและกำไลข้อมือที่ทำจากหินอ่อนสีขาวและเปลือกหอยทะเล

 

สมัยที่ 2 เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยสุดท้ายของบ้านโป่งมะนาวนั้น มีอายุเริ่มต้นอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 2,800-2,500 ปีมาแล้ว และสิ้นสุดในช่วง 1,800-1,500 ปีมาแล้ว ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่อยู่ในสมัยนี้ เช่น หลุมฝังศพของมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงกระดูกมนุษย์ และสิ่งของที่พบร่วมกับศพหรือวัตถุอุทิศ เช่น ภาชนะดินเผา กำไลและแหวนสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ลูกปัดแก้ว แม่พิมพ์ทำด้วยดินเผาใช้สำหรับหล่อหัวลูกศรโลหะ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เป็นต้น

 

ทั้งนี้ สามารถสรุปลักษณะทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวได้เป็นด้านต่างๆโดยสังเขป ดังนี้

 

การตั้งถิ่นฐาน การดำรงชีวิต และสภาพสังคม

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่บ้านโป่งมะนาวตั้งอยู่บนเนินดินที่มีลำห้วยล้อมรอบ เนินดินดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายเนินดินของพื้นที่แถบนั้นที่มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย ลำห้วยที่ล้อมรอบเนินดินแหล่งโบราณคดีมีทิศทางการไหลของน้ำจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกจนไปบรรจบกับลำห้วยสวนมะเดื่อ และจะไหลไปออกแม่น้ำป่าสักในที่สุด พื้นที่นี้จึงจัดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ลำห้วยดังกล่าวน่าจะมีน้ำไหลอยู่เกือบหรือตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งติดต่อกับชุมชนในพื้นที่อื่นได้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งนอกจากปัจจัยด้านสภาพพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ที่ส่งเสริมให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งจากการสำรวจพบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอยู่ตามริมห้วยในพื้นที่แถบนี้หลายแห่งด้วยกัน

 

โบราณวัตถุหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกันระหว่างชุมชนโบราณบ้านโป่งมะนาวกับชุมชนอื่นทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและชุมชนห่างไกล เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเปลือกหอยทะเล ชิ้นส่วนเปลือกหอยมือเสือ เครื่องประดับที่ทำจากแก้ว หินอ่อน และหินกึ่งมีค่า รวมทั้งก้อนวัตถุดิบทองแดง เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้ไม่มีวัตถุดิบอยู่ในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังปรากฏสิ่งของที่แสดงให้เห็นถึงความเหมือนหรือคล้ายกับสิ่งของในชุมชนอื่น เช่น เครื่องมือเหล็กรูปโค้ง และภาชนะดินเผาที่ผิวด้านในมีการขัดและรมดำ คล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในเขตจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน เป็นต้น

 

หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เมื่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้วนั้น บริเวณบ้านโป่งมะนาวได้พัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก โครงกระดูกมนุษย์กว่า 100 โครงถูกลักลอบขุดทำลายไปแล้วที่บริเวณวัดโป่งมะนาว และโครงกระดูกที่ได้รับการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดีอีกหลายสิบโครงเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ชัดเจนว่าชุมชนนี้เคยมีประชากรหนาแน่นมาก

 

พบหลักฐานที่แสดงถึงการจัดแบ่งพื้นที่ภายในชุมชนเพื่อใช้ในหน้าที่ต่างๆโดยเฉพาะ กล่าวคือ พื้นที่ส่วนที่เป็นสุสานของชุมชนจะอยู่บริเวณกลางเนิน โดยมีขนาดไม่น้อยกว่า 100x100 เมตร ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยคงตั้งอยู่เรียงรายในบริเวณพื้นที่ใกล้กับลำห้วย ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นการจัดพื้นที่ภายในชุมชนนี้ มีนัยแสดงถึงระบบในการจัดระเบียบสังคม มีประเพณีการทำศพที่ยึดถือร่วมกันในชุมชน นอกจากนี้ การพบความแตกต่างกันของลักษณะบางประการที่ปรากฏบนโครงกระดูกมนุษย์ มีนัยแสดงถึงการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่แตกต่างกัน อาจชี้ให้เห็นถึงการแบ่งหน้าที่ในการทำงานภายในครอบครัวหรือภายในชุมชน อีกทั้งการพบความแตกต่างของสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพหรือวัตถุอุทิศในแต่ละหลุมฝังศพ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ (อาจชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำกันระหว่างบุคคลในสังคม (Non-egalitarian societies) ของชุมชนแห่งนี้ด้านใดด้านหนึ่งระหว่างความเหลื่อมล้ำทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะทั้งสองด้าน

 

ด้านการดำรงชีวิต สันนิษฐานว่าชุมชนดังกล่าวน่าจะเป็นชุมชนที่รู้จักการทำเกษตรกรรมแล้ว ดังเช่นชุมชนโบราณร่วมสมัยอื่นๆ หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ เช่น ชิ้นส่วนแกลบข้าวในเศษภาชนะดินเผา หรือหลักฐานเกี่ยวกับอายุของสัตว์เมื่อตาย โดยเฉพาะหมูที่มีอายุเมื่อตายใกล้เคียงกัน คืออายุระหว่าง 4-17 เดือน แสดงให้เห็นถึงการเลือกได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากหมูที่มีอายุเท่าใด ซึ่งมีนัยถึงการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรมของคนในชุมชน น่าจะเป็นไปในลักษณะควบคู่ไปกับการหาของป่าและล่าสัตว์ โดยสินค้าเหล่านี้นอกจากจะใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชุมชนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสินค้าสำหรับค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นได้อีกด้วย

 

สิ่งของเครื่องใช้ในชุมชนพบว่ามีรูปแบบที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่นภาชนะดินเผา โดยเฉพาะที่พบในหลุมฝังศพ มีอยู่หลากหลายรูปทรง ได้แก่ ทรงหม้อก้นกลม ทรงชาม ทรงพาน ทรงอ่าง ฯลฯ ด้านการตกแต่งภาชนะก็มีความหลากหลายเช่นกัน เช่น ทาน้ำดิน ขัดมัน ขูดขีด ขุด เชือกทาบ รวมทั้งไม่มีตกแต่งหรือแบบเรียบ และจากการศึกษาทางศิลาวรรณา พบว่าภาชนะเหล่านี้น่าจะมีการผลิตขึ้นได้เองภายในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานของการผลิตเส้นใยผ้าและการใช้ผ้า โดยนอกจากจะพบแวดินเผาแล้ว ยังพบเศษผ้าที่ติดอยู่กับกระดึงสำริดขนาดใหญ่ในหลุมขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 12 และเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลข้อเท้าสำริดขนาดใหญ่ในหลุมฝังศพหมายเลข 3 ของหลุมขุดค้นหมายเลข 18

 

เครื่องมือที่พบได้แก่ เครื่องมือหินขัด หัวลูกศรสำริด เครื่องมือเหล็กรูปแบบต่างๆ เช่น ขวาน สิ่ว เครื่องมือขุด ใบหอก หัวลูกศร มีด ดาบ เครื่องมือคล้ายมีดขอหรือขอชักไม้ ลักษณะรูปร่างคล้ายนก เครื่องมือเหล็กเหล่านี้มีทั้งแบบมีช่องเข้าด้าม มีบ้อง และมีกั่น  นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือกระดูกปลายแหลมที่ทำจากกระดูกยาวของสัตว์ และเครื่องมือทำจากเขาสัตว์วงศ์กวาง (Cervidae) และวงศ์วัว/ควาย (Bovidae)

 

เครื่องประดับ พบว่ามีความหลากหลายทั้งด้านรูปแบบ การตกแต่ง และวัตถุดิบ เช่น กำไล ทำจากสำริด เหล็ก หิน กระดูก งาช้าง เปลือกหอย, แหวน ทำจากสำริด, ลูกปัด ทำจากหินกึ่งมีค่า แก้ว เปลือกหอย กระดูกสัตว์ เขี้ยวสัตว์ สำริด, ต่างหู ทำจากหินอ่อน หินกึ่งมีค่า แก้ว สำริด, กระพรวนและกระดึง ทำจากสำริด, เครื่องประดับทำจากกระดองเต่า และห่วงเหล็ก เป็นต้น

 

ประเพณีและความเชื่อ

ประเพณีและความเชื่อที่ปรากฏหลักฐานมากและเด่นชัดที่สุดในชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว คือประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ โดยการปลงศพของชุมชนดังกล่าวปรากฏอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่

 

การปลงศพแบบที่ 1: ในกรณีนี้จะปลงศพด้วยการฝังไว้ในหลุมตื้นๆภายในเขตพื้นที่สุสานของชุมชน โดยการฝังจะจัดศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว บางครั้งก็มีการทุบภาชนะดินเผาหลายใบให้แตก แล้วนำมาปูรองพื้นหลุมศพ ก่อนที่จะวางศพทับลงไป แล้วจากนั้นก็นำดินมากลบทับศพจนเป็นพูนดิน ในบางกรณีพบว่ามีการใช้ก้อนหินทับบนพูนดินเหนือศพหรือวางรอบพูนดินเหนือศพด้วย การปลงศพด้วยวิธีนี้ มักมีการฝังสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ร่วมไปกับศพด้วย สันนิษฐานว่าใช้สำหรับเป็นเครื่องเซ่นหรืออุทิศให้กับศพ สิ่งของประเภทหลักที่พบอยู่ร่วมกับทุกศพคือ ภาชนะดินเผา ส่วนสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆที่พบอยู่ร่วมกับศพบางศพ ได้แก่ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เครื่องมือเหล็ก เครื่องมือที่ทำจากเขาสัตว์ เครื่องประดับ เช่น ลูกปัด ต่างหู กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวน ทำจากแก้ว หิน หินกึ่งมีค่า สำริด งาช้าง กระดูกสัตว์ เปลือกหอยทะเล รวมทั้งเครื่องประดับลักษณะเป็นแผ่นกลมแบนที่ทำจากกระดองส่วนอกของเต่า เป็นต้น การปลงศพในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีการห่อหรือมัดศพด้วยวัสดุประเภทอินทรีย์วัตถุ เช่น ผ้า เสื่อ เชือก ก่อนที่จะนำไปฝัง เพราะจากลักษณะของโครงกระดูกที่แขนที่แนบไปกับลำตัว และโดยเฉพาะขาทั้งสองข้างที่วางอยู่ชิดหรือค่อนข้างติดกัน ประกอบกับการพบชิ้นส่วนผ้าที่ติดอยู่กับกำไลข้อเท้าสำริดในหลุมฝังศพหมายเลข 3 หลุมขุดค้นหมายเลข 18

 

จากการศึกษาสิ่งของที่ถูกฝังอยู่ร่วมกับศพหรือวัตถุอุทิศ พบนัยบางประการ กล่าวคือ เครื่องมือเหล็กและอุปกรณ์ในการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับโลหะ เช่น ชิ้นส่วนเตาหลอมโลหะ ชิ้นส่วนกระบอกสูบลม และเบ้าหลอมโลหะ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากกระดองส่วนอกของเต่า มักพบในหลุมฝังศพของเพศชายเท่านั้น และอุปกรณ์ในการผลิตดังกล่าว ไม่พบในหลุมฝังศพของเด็ก

 

การปลงศพแบบที่ 2 : เป็นการปลงศพแบบพิเศษที่ใช้สำหรับปฏิบัติกับศพทารกที่เสียชีวิตเมื่อคลอดหรือเสียชีวิตในครรภ์ โดยจะนำศพเด็กทารกบรรจุลงในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ อาจจัดวางศพให้อยู่ในท่านั่ง จากนั้นใช้ภาชนะดินเผาทรงพานวางทับเป็นฝาปิดปากภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ โดยให้ส่วนฐานของพานอยู่ในภาชนะใบใหญ่ แล้วนำภาชนะดินเผาบรรจุศพทารกนี้ไปฝังไว้ในเขตที่อยู่อาศัย มีความเป็นไปได้ว่าอาจฝังไว้ใต้บ้านที่อยู่อาศัย ไม่นำไปฝังในสุสานรวมของชุมชน ซึ่งในเขตสุสานรวมของชุมชนนั้นพบว่ามีเฉพาะการปลงศพแบบที่ 1 เท่านั้น การปลงศพในแบบที่ 2 มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปลงศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแคสมัยที่ 2 ในจังหวัดลพบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จังหวัดนครราขสีมา

 

เทคโนโลยี

พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญและเห็นได้ชัดในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ได้แก่ เทคโนโลยีเกี่ยวกับโลหะ โดยเฉพาะสำริดและเหล็ก

 

จากการศึกษาคุณลักษณะภายนอก เช่น สี รูปทรง และการตกแต่ง การศึกษาคุณลักษณะภายใน เช่น โครงสร้างผลึก และองค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างโบราณวัตถุประเภทโลหะ ทั้งทองแดง สำริด และเหล็กที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวที่ผ่านมา (แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตหรือช่างโลหะมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีด้านโลหะวิทยา (Metallurgy) และด้านความร้อน (Pyrotechnology) รวมทั้งมีทักษะในการผลิตเครื่องโลหะเหล่านั้นเป็นอย่างดี สามารถเลือกใช้และปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบ รวมทั้งสามารถเลือกใช้วิธีการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ ทั้งยังสามารถควบคุมความร้อนในขั้นตอนต่างๆของการผลิต และสามารถผลิตสิ่งของที่มีลวดลายที่ประณีตได้

 

เทคโนโลยีด้านสำริด พบว่าในชุมชนโบราณที่บ้านโป่งมะนาวมีการใช้สำริดทั้งชนิดสามัญที่มีตะกั่วเป็นองค์ประกอบที่ 3 และสำริดที่มีดีบุกผสมในปริมาณสูง (High Tin Bronze) กระบวนการทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ก็ได้มีการนำเอาหลายเทคนิคมาใช้ เช่น การหล่อแบบใช้แม่พิมพ์ และการหล่อแบบสูญขี้ผึ้ง (Lost-wax casting) ตามความเหมาะสมของวัตถุสำริดแต่ละชิ้น เช่น ความเหมาะสมด้านความแข็ง ความเหนียว ความเปราะ สี ความวาว ความประณีตและลวดลายต่างๆ

 

เทคโนโลยีด้านเหล็ก พบว่าช่างเหล็กผู้ผลิตมีความชำนาญในการผลิตเหล็กอ่อน (Wrought iron) และมีความสามารถเป็นอย่างดีในการปรับปรุงให้เหล็กอ่อนกลายเป็นเหล็กกล้า (Steel) เพื่อประโยชน์ในการใช้งาน

 

นอกจากนี้ ยังพบใบหอกที่ทำจากโลหะ 2 ชนิด (Bimetallic spearpoint) ในหลุมฝังศพหมายเลข 7 ของหลุมขุดค้นหมายเลข 4 โดยส่วนใบหอกทำด้วยเหล็ก และส่วนบ้องทำด้วยสำริดที่มีการตกแต่งด้วยลวดลายละเอียดประณีต ส่วนบ้องนี้ทำขึ้นด้วยวิธีการหล่อแบบสูญขี้ผึ้ง โดยหล่อหุ้มทับเนื้อโลหะเหล็กส่วนคมหอก หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นนี้แสดงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการทำโลหะของช่างโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางของประเทศไทย

 

มีหลักฐานบางส่วนชี้ให้เห็นว่าชุมชนโบราณที่บ้านโป่งมะนาวสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากโลหะขึ้นได้เอง เช่น หลักฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ อาทิ ชิ้นส่วนเตาหลอมโลหะ ชิ้นส่วนปลายท่อลมจากที่สูบลมสำหรับเตาหลอมโลหะ เบ้าหลอมโลหะ ก้อนทองแดงที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำสำริด และชิ้นส่วนตะกรัน เป็นต้น โดยเฉพาะวัตถุประเภทสำริดนั้น มีความเป็นไปได้ว่ามีการนำทองแดงมาจากแหล่งแร่และแหล่งถลุงทองแดงที่ย่านเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านโลหกรรมของชุมชนแห่งนี้ เป็นไปในลักษณะเดียวกับชุมชนอื่นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยกันในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางและในพื้นที่ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

 

เทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผา พบว่าคนในชุมชนน่าจะเป็นผู้ผลิตขึ้นเอง โดยใช้วัตถุดิบภายในพื้นที่หรือในพื้นที่ใกล้เคียง มีการขึ้นรูปภาชนะด้วยมือและแป้นหมุน ส่วนการเผาภาชนะน่าจะเป็นการเผาแบบกลางแจ้ง

 

จากหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมดที่พบ อาจจัดได้ว่าชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ลพบุรี-ป่าสัก ในเขตภาคกลางของประเทศไทย นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กที่บ้านโป่งมะนาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงราว 2,500 ปีมาแล้วนั้น ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางประชากร ศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

 

ศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายดังเช่นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวนี้ น่าจะเป็นชุมชนหนึ่งที่มีส่วนร่วมสำคัญที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งสำคัญในสมัยโบราณของภาคกลางประเทศไทยในช่วงสมัยหลังต่อมา คือในราว 1,500 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาคกลางของประเทศไทยได้เริ่มมีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบชุมชนเกิดขึ้น ซึ่งมักถูกเรียกโดยรวมว่า “เมืองโบราณสมัยวัฒนธรรมทวารวดี”

 

(ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล - ผู้เรียบเรียงข้อมูล)

  ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของท้องถิ่นและของจังหวัดลพบุรี ภายในวัดโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีทั้งพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว และการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี (Site museum) โดยมีมัคคุเทศก์และยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้บริการนำชม อีกทั้งยังมีการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นภายในพิพิธภัณฑ์

 

 นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นและในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม เช่น น้ำตกสวนมะเดื่อและวัดถ้ำตะเพียนทอง (ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และ อ.วังม่วง จ.สระบุรี) แหล่งโบราณคดีซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร (ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี) เป็นต้น

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, บ้านโป่งมะนาว เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/18#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7,%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%8A%E0%B8%A1%20%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81