หน้าแรก แหล่งโบราณคดี เขาสามแก้ว

เขาสามแก้ว

ที่ตั้ง ม.1 บ้านสามแก้ว ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร
พิกัด 10.52725 N, 99.18208 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี พ.ศ. 101 ถึง 400
แหล่งน้ำสำคัญ คลองท่าตะเภา, คลองพนังตัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ เมืองท่า ลูกปัด เขาสามแก้ว อุตสาหกรรม อินเดียเหนือ อินเดียใต้ ราชวงศ์ฮั่น กลองมโหระทึก ลิง-ลิง-โอ เส้นทางข้ามคาบสมุทร วงแหวนแห่งโมริยะ ลูกปัดเขียนลายขาว ขันสำริดดีบุกปริมาณสูง ลูกปัดทองคำ ลูกปัดทรงตระกร้อ Roman dodecahedron
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

532

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

20 มิ.ย. 2565

เขาสามแก้ว

team
  • เครื่องประดับรูปสัตว์
ชื่อแหล่ง : เขาสามแก้ว
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสามแก้ว ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร
พิกัด : 10.52725 N, 99.18208 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี พ.ศ. 101 ถึง 400
แหล่งน้ำสำคัญ : คลองท่าตะเภา, คลองพนังตัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : เมืองท่า ลูกปัด เขาสามแก้ว อุตสาหกรรม อินเดียเหนือ อินเดียใต้ ราชวงศ์ฮั่น กลองมโหระทึก ลิง-ลิง-โอ เส้นทางข้ามคาบสมุทร วงแหวนแห่งโมริยะ ลูกปัดเขียนลายขาว ขันสำริดดีบุกปริมาณสูง ลูกปัดทองคำ ลูกปัดทรงตระกร้อ Roman dodecahedron
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 20 มิ.ย. 2565

- ค.ศ.1974 (พ.ศ. 2517) หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีที่อุโบสถวัดสามแก้ว พบภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2468 – 2473) และเขียนรายงานลงในหนังสือ “โบราณวัตถุสถานในภาคใต้ตอนเหนือ รวม 7 จังหวัด”

 

- ค.ศ.1974-1977 (พ.ศ. 2517-2520) หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจบริเวณเขาสามแก้วและจัดทำรายงานการสำรวจ โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดสามแก้ว

 

- ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2521) คณะสำรวจการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในเขตภาคใต้ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจ และบันทึกโบราณวัตถุที่ชาวบ้านในท้องถิ่นขุดได้จากบริเวณเขาสามแก้ว ได้แก่ พวกลูกปัดและวัตถุสำริดต่างๆ

 

- ค.ศ.1978 (พ.ศ. 2524) หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจบริเวณเขาสามแก้วที่ชาวบ้านทำการขุดหาโบราณวัตถุเพื่อประโยชน์ทางการค้า

 

- ค.ศ.1978 (พ.ศ. 2524) ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วบนเนินเขา สามารถแบ่งชั้นดินทางวัฒนธรรมออกเป็น 2 ชั้นคือ ชั้นที่ 1 สมัยร่วมประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ชั้นที่ 2 คือ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญที่ได้จากการขุดค้น ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ขวานหินขัด หินลับ แท่นหินบด กำไลหิน ลูกปัดแร่ประกอบหิน เศษภาชนะดินเผา ตุ้มถ่วงแห แว หุ่นจำลองอวัยวะเพศ ตัวสัตว์ ใบไม้ คนและสิงของ กำไลสำริด กลองมโหระทึก ภาชนะสำริด เครื่องมือเหล็ก หอก อาวุธ ขวานเหล็ก ภาชนะคล้ายรูปกะทะ เครื่องมือปลายเหล็กแหลมคล้ายเข็ม เครื่องประดับทองรูปพรรณ เช่นแหวน แผ่นทอง ลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยแก้ว เช่น กำไล ลูกปัด เป็นต้น

 

- ค.ศ.2005-2009 (พ.ศ.2548-2552) ทำการขุดค้นทางโบราณคดีเต็มพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตร จากหลักฐานที่ได้ทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน มีการจัดระเบียบแบบแผนของชุมชนและมีการติดต่อกับชุมชนอื่น

 

- ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เขาสามแก้ว – เมืองท่ารุ่นต้น” กล่าวถึงข้อมูลของแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วและพูดถึงวิกฤตการลักลอบขุดหาลูกปัดที่ทวีความรุนแรงในช่วงปี ค.ศ.2006-2007 (พ.ศ.2548–2549) เป็นต้นมา พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไข การจัดการแหล่งโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว

 

- ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ “การศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยตอนบน” ทำการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรโดยการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีได้ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่แหล่งโบราณคดีปากจั่นฝั่งทะเลตะวันตกและแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วทางฝั่งทะเลตะวันออก เนื่องจากมีหลักฐานทางโบราณคดีและละติจูใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่พบแหล่งโบราณคดีกลางคาบสมุทรที่จะยืนยันผลได้ชัดเจน

 

 

          เขาสามแก้วมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์เหมาะกับการทำการค้าทางทะเล เพราะตั้งอยู่ติดกับคลองท่าตะเภาและยังอยู่บริเวณสบแม่น้ำสองสายคือคลองท่าตะเภาและพนังตัก คลองท่าตะเภานี้ไปเชื่อมกับคลองพนังตักที่อยู่ทางทิศตะวันออก ก่อนจะไปออกปากอ่าว ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร หรือสามารถไปออกที่ปากน้ำชุมพรได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริเวณปากแม่น้ำทั้งสองไม่พบแหล่งโบราณคดีใดๆ จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าคนโบราณจะใช้เส้นทางใด แม้ว่าจะมีข้อได้เปรียบทางภุมิศาสตร์ แต่มีที่ราบไม่มากนักสำหรับการเพาะปลูกข้าว 
 
          แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จากการหาค่าอายุด้วยวิธี C-14 จากถ่านที่ได้จากการขุดค้นพบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีการอยู่อาศัยเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 2 และเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 -10
 
          ลักษณะของชุมชนจัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและสถานีการค้า มีการสร้างกำแพงดินล้อมรอบชุมชน มีการสร้างคูน้ำหรือทางระบายน้ำ และมีการจัดแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรมไว้นอกเขตชุมชน
 
          โบราณวัตถุที่เขาสามแก้วมีเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง หลายชิ้นเป็นของมีค่า ได้แก่ ลูกปัดหินหลายชนิดทั้งคาร์เนเลียน อะเกต อเมทิสต์ โอนิก หยกเนไฟร์ต กาเน็ต ลูกปัดแก้วหลากหลายชนิดส่วนใหญ่จะเป็นลูกปัดชนิดอินโดแปซิฟิก (Indo-pacific bead) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลูกปัดลม” (ย่อมาจาก Wind-trade bead) ลูกปัดทั้งหมดพบว่ามีการผลิตในแหล่งโบราณคดีนี้ ลูกปัดเขียนลายขาว (etched bead) นอกจากนี้ยังพบโลหะทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ ขันสำริดดีบุกปริมาณสูง (high-tin bronze)
 
          ทองคำพบเป็นจำนวนมากที่เขาสามแก้ว แม้ว่าไม่อาจประเมินจำนวนได้ แต่ก็ถือว่ามากกว่าแหล่งโบราณคดีแห่งอื่น มีทั้งที่เป็นกำไลทองคำ ทองคำแผ่น ลูกปัดทองคำ ลูกปัดทองคำแบบที่น่าสนใจคือ ลูกปัดทรงตระกร้อ หรือ แปดเหลี่ยม แบบที่เรียกว่า “Roman dodecahedron” ซึ่งใช้เทคนิคการหยดเม็ดทองในการทำ ถือเป็นเทคนิคการผลิตทองขั้นสูง
 
          ลูกปัดสัญลักษณ์พบเป็นจำนวนมากพบทั้งสัตว์ เช่น ม้า โค สิงห์ ช้าง มกร ช้าง หงส์ และสัญลักษณ์ทางศาสนาเช่น ตรีรัตนะ ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก วงแหวนแห่งโมริยะ (Mauryan ringstone) ที่พบจากการดูดทราย ซึ่งในโลกพบจำนวนน้อยมาก
 
          ตราประทับมีตัวอักษรพราหมีสมัยราชวงศ์โมริยะ ตราประทับแบบอินทากลิโอ (intaglio) ทั้งของโรมันและอินเดีย การค้นพบจารึกบนลูกปัดและตราประทับ เช่น
 
     - ลูกปัดคาเนเลียนรูปแท่งหินปริซึมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งมีอักษรพราหมี ภาษาสันสกฤต เขียนว่า “อขิทโร” แปลว่าแข็งแรง ไม่อ่อนแอกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 4
 
     - ตราประทับหินสีเขียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบจารึก 1 ด้าน อักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 อ่านว่า Kapanasa แปลว่า สมบัติของ Kapana (ชื่อคน)
 
     - ตราประทับหินสีเขียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพบจารึก 2 ด้าน อักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5 -6  อ่านว่า isidata ซึ่งน่าจะเป็นชื่อบุคคล
 
     - ตราประทับหินสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบจารึก 3 ด้าน ประทับตรารูปสัตว์ 1 ด้าน (ยังไม่มีการอ่านและแปล)
 
     - หินทรงกลม 2 สี จารึกอักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5 – 6 อ่านว่า ma-Tha-ha สันนิษฐานว่าชื่อคน แปลว่าบริสุทธิ์
 
 
          ที่สำคัญด้วยคือที่เขาสามแก้วยังพบกลองมโหระทึกที่ปัจจุบันนับรวมทั้งที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร และที่เอกชนค้นพบได้รวมแล้ว 11 ใบ ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
 
 

- ยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควรมีการจัดการในอนาคต

 

- จากตลาดเมืองชุมพร ใช้เส้นทางชุมพร – สระพลี ประมาณ 2 – 3 กิโลเมตร จะถึงชุมชนโบราณเขาสามแก้วอยู่ทางซ้ายมือ  

- เชาวณา ไข่แก้ว. “การศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยตอนบน.”วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

 

- ปรีชา นุ่นสุข. “เขาสามแก้ว : เมืองท่ารุ่นต้น” ในเมืองโบราณ 32, 4 (ตุลาคม–ธันวาคม 2549) : 98–104.

 

- ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวํฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (Online) Available from http://www.gis.finearts.go.th.

 

- วิสันธนี โพธิสุนทร เรียบเรียง. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2542.

 

- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว: ชุมชนโบราณ.” ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, 2542 : 841-853.

 

- Bellina – Pryce Bérénice, and Praon Silapanth. “Weaving cultural identities on trans-Asiatic Networks: Upper Thai – Malay Peninsula – an early socio – political landscape”  Bulletine de École Française d’Extrême – Orient no .93, 2008 : 256 – 293.

 

- Bellina – Pryce Bérénice, Mercedes Murillo – Barroso, Thomas Oliver Pryce and Marcos Martinon – Torres. “Khao Sam Keao – an archaeometallurgical crossroads for trans – Asiatic Technological Traditions” Journal of Archaeological Science. 37, 2010 : 1761–1772.

 

- Thomas Oliver Pryce,  Bellina – Pryce Bérénice, Mercedes Murillo – Barroso, Marcos Martinon – Torres and Lynn Biggs. “Prehistoric iron production technologies in the Upper Thai – Malay Peninsula : metallography and slag inclusion analyses of artefacts from Khao sam Kaeo and Phu Khao Thong”  www.academai.edu/3887797/ Prehistoric iron production technologies in the Upper Thai – Malay Peninsula : metallography and slag inclusion analyses of artefacts from Khao sam Kaeo and Phu Khao Thong , 2011.