หน้าแรก แหล่งโบราณคดี ท่าชนะ (บ้านท่ามะม่วง หรือ ท่าม่วง)

ท่าชนะ (บ้านท่ามะม่วง หรือ ท่าม่วง)

ที่ตั้ง ม.7 บ้านท่าม่วง ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
พิกัด 9.5491967 N, 99.1918887 E
อายุสมัย ก่อน 2,000 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ คลองท่าเนียม, คลองประสงค์, คลองท่าชนะ
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ สุวรรณภูมิ ลูกปัด ราชวงศ์ฮั่น ลูกปัดทองคำ เศษแก้ว ลูกปัดโมเสก
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

4

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

13 พ.ย. 2567

ท่าชนะ (บ้านท่ามะม่วง หรือ ท่าม่วง)

team
  • แหล่งโบราณคดีท่าชนะ
ชื่อแหล่ง : ท่าชนะ (บ้านท่ามะม่วง หรือ ท่าม่วง)
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านท่าม่วง ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
พิกัด : 9.5491967 N, 99.1918887 E
อายุสมัย : ก่อน 2,000 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ : คลองท่าเนียม, คลองประสงค์, คลองท่าชนะ
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : สุวรรณภูมิ ลูกปัด ราชวงศ์ฮั่น ลูกปัดทองคำ เศษแก้ว ลูกปัดโมเสก
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ราชวงศ์ฮั่น
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 20 พ.ย. 2567

- การสำรวจของกรมศิลปากรเรียกว่าแหล่งโบราณคดีบ้านท่ามะม่วง โดยทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2529 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร ในครั้งนั้นได้สำรวจพบลูกปัดและโบราณวัตถุต่างๆ จำนวนมาก 

          ในเชิงภูมิศาสตร์แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาประสงค์ ซึ่งเป็นเขาหินปูนขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้จากในทะเล ทำให้เป็นจุดสังเกตการเดินเรือที่ดี สภาพของพื้นที่เป็นที่ราบขนาดใหญ่ ดินเป็นดินร่วนปนทราย ลึกลงไปข้างล่างเป็นทรายปนดิน (sandy loam) คล้ายกับที่บางคนเรียกดินขี้เป็ด หรือบางส่วนก็เป็นทรายเลย แสดงว่าในสมัยก่อนคงเป็นสันทรายโบราณ (sand dune) ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีนี้อยู่ห่างจากทะเลเพียง 1.8 กิโลเมตรเท่านั้น ขนาดของพื้นที่แหล่งที่พบโบราณวัตถุมีขนาดประมาณ 3.68 เฮกตาร์ มีแหล่งน้ำสำคัญคือ คลองท่าเนียม คลองประสงค์ และคลองท่าชนะ ดังนั้น จึงทำให้ท่าชนะเป็นชุมทางของการเดินทาง

          โบราณวัตถุที่พบที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีความน่าสนใจมาก ตามที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า กรมศิลปากรเคยเข้ามาทำการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อราว 6-7 ปีมาแล้วบริเวณหลังวัดอัมพาวาส แต่พื้นที่ขุดไม่พบโบราณวัตถุมากนักหรือบางหลุมก็ไม่พบโบราณวัตถุเลย และยังไม่พบการเผยแพร่รายงานการขุดค้นในครั้งนั้น ดังนั้น จึงทำให้ไม่ทราบข้อมูลเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม จากโบราณวัตถุที่เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จากในครอบครองของเอกชนจำนวน 4-5 คน สามารถสรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีท่าชนะเป็นแหล่งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับ เนื่องจากพบก้อนวัตถุดิบและพบลูกปัดที่ยังผลิตไม่แล้วเสร็จจำนวนมาก ลูกปัดทำจากหินอะเกตและคาร์เนเลียนบางส่วนเห็นได้ชัดว่าผ่านกระบวนการหุง เห็นได้จากสีที่ซีด (ชาวบ้านเรียกว่าสังคโลก)

          โบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบได้แก่ ลูกปัดแก้วหลากชนิดแบบอินโดแปซิฟิกพบเป็นจำนวนมาก ลูกปัดทำจากเทคนิคโมเสกหลายรูปแบบ ซึ่งพบจำนวนน้อย และลูกปัดแก้วแบบห่อทองคำ (gold foiled bead) ซึ่งมีที่มาจากโรมัน

          ลูกปัดหินทำจากหินอะเกต คาร์เนเลียน อเมทิสต์ หยกเนไฟร์ต ควอทซ์ใส โอนิกซ์ ไคร์โสฟาส (Chrysoprase) เฮลิโอโทรป (Heliotrope) โกเมน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ามีการนำเข้าหินจากหลายแห่งมาก ลูกปัดมีหลากหลายรูปทรงทั้งทรงกลม ยาว กระบอก ทุ่น และอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนกำไลแก้วจำนวนมากสีหลักคือ เขียว น้ำเงิน และแดงทึบ

          ที่โดดเด่นด้วยคือพบเครื่องประดับสัตว์สัญลักษณ์ ได้แก่ ม้า เต่า ช้าง มกร หงส์ สิงโต และโค ที่นี่พบเป็นจำนวนมาก และมีความสอดคล้องบางอย่างกับที่พบในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่นที่เจอที่เมืองเหอผู่ (合浦)

          ที่ท่าชนะยังพบอินทากลิโอ (intaglio) เป็นรูปต่างๆ เช่น รูปของเทพเจ้าไนกี้ รูปวัวมีหนอก รูปเทพเจ้าต่างๆ ของพวกนี้ทำทั้งในโรมัน และอินเดีย

          นอกจากนี้ยังพบเครื่องแก้ว และถ้วยแก้วสีฟ้าและเขียว ถ้วยแก้วแบบนี้บางครั้งเรียก “ถ้วยราชวงศ์ฮั่น” (Han cup) ซึ่งมักพบในสุสาน เช่นที่เมืองเหอผู่ เดิมทีเชื่อว่าถ้วยแบบนี้ผลิตในจีน แต่สังเกตได้ว่าถ้วยแบบนี้พบจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีท่าชนะ และยังพบที่เขาสามแก้วด้วยแต่น้อยกว่ามาก และยังพบก้อนแก้ววัตถุดิบที่มีสีเหมือนกับถ้วยพวกนี้ ดังนั้น จึงเป็นไปที่นี่เป็นแหล่งผลิตถ้วยแบบนี้ ในขณะเดียวกันที่นี่ยังพบเศษภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นอีกเป็นจำนวนมาก และพบเศษชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังและชายหลังคาแบบราชวงศ์ฮั่น ดังนั้น ท่าชนะควรมีชุมชนชาวฮั่นและมีคนที่ทางการส่งมาเป็นตัวแทนเพื่อตั้งสถานีการค้า

ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 

นิติ แสงวัณณ์, สิริกุล พิชัยจุมพล, สุพจน์ พรหมมาโนช และคณะ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านท่ามะม่วง ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ: โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กรมศิลปากร, 2529. (เอกสารอัดสำเนา)

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 2562. สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก. กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน).