หน้าแรก แหล่งโบราณคดี ดอนตาเพชร

ดอนตาเพชร

ที่ตั้ง ม.7 บ้านทุ่งสมบูรณ์ ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
พิกัด 14.188890 N, 99.725658 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี ค.ศ. 24 ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ.276
แหล่งน้ำสำคัญ บึงน้ำใกล้วัด, แม่น้ำจระเข้สามพัน
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ จังหวัดกาญจนบุรี สิงโตคาร์เนเลียน นกยูง ไก่ สำริด เหล็ก
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

418

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

11 มี.ค. 2566

ดอนตาเพชร

team
  • พิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชร
ชื่อแหล่ง : ดอนตาเพชร
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านทุ่งสมบูรณ์ ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
พิกัด : 14.188890 N, 99.725658 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี ค.ศ. 24 ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ.276
แหล่งน้ำสำคัญ : บึงน้ำใกล้วัด, แม่น้ำจระเข้สามพัน
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : จังหวัดกาญจนบุรี สิงโตคาร์เนเลียน นกยูง ไก่ สำริด เหล็ก
ยุคสมัย :
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 11 มี.ค. 2566

- ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518): ทางโรงเรียนวัดสาลวนารามได้ขุดดินเพื่อปักเสารั้วของโรงเรียนด้านตะวันตก และได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ต่อมานายนริศ ผดุงไทย หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง (ในขณะนั้น) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปตรวจสอบ นายกริ่ม สุขสมัย ครูใหญ่โรงเรียนวัดสาลวนาราม ได้แจ้งให้ทราบว่า นักเรียนได้ขุดดินเพื่อปักเสารั้วหลายหลุม ลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร และได้พบโบราณวัตถุประเภทโลหะเหล็กและสำริดเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงให้ระงับการขุด และขอรับโบราณวัตถุทั้งหมดไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

- ค.ศ.1975-1976  (พ.ศ.2518-2519): ทางกรมศิลปากรจึงได้มอบหมายให้นายชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงกระดูก พร้อมคณะ มาดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี 

 

- ค.ศ.1980-1921 (พ.ศ.2523-2524): ได้มีการขุดค้นเพิ่มเติม

 

- ค.ศ.1984-1985 (พ.ศ.2527-2528): ได้มีการจัดตั้งโครงการร่วมมือวิจัยระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยลอนดอน (A Joint Project between the Fine Arts Department of Thailand and the Institute of Archaeology of University of London) โดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายกรมศิลปากร และ ดร. Ian C. Glover แห่งสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งผลจากการขุดค้นในเวลานั้นได้พบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก 

 

 

หลักฐานที่พบที่บ้านดอนตาเพชรสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนแห่งนี้ทำการติดต่อทำการค้ากับอินเดียและนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับหลักที่สะท้อนการติดต่อกับอินเดียนั้นได้แก่ เครื่องประดับประเภทต่างๆ โดยเฉพาะลูกปัดคาร์เนเลียน ลูกปัดอาเกต ลูกปัดฝังลายสีขาว (Ethed bead) ลูกปัดแก้วสีต่างๆ เช่น สีเขียวอ่อน น้ำเงิน น้ำตาลแดง เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังพบกำไลแก้วสีม่วงและเขียวอีกด้วย ผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของลูกปัดโดยนักวิชาการหลายคนพบว่า ลูกปัดแก้วที่บ้านดอนตาเพชรเป็นแบบมีแร่โปแตส (Potash) ปน ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างสูงกับลูกปัดที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร, จีออง กา โว (Giong Ga Vo) ในเวียดนาม, และที่เมืองอริกาเมฑุ (Arikamedu) ในอินเดีย (Glover and Bellina 2011) หลักฐานอีกชิ้นที่สำคัญคือ สิงโตคาร์เนเลียน ซึ่งเดิมทีสันนิษฐานว่ามาจากอินเดีย แต่ในปัจจุบันมีนักวิชาการบางท่านเสนอว่าอาจสัมพันธ์กับวัฒนธรรมซามอน (Samon Valley culture) ในพม่า และอาจสัมพันธ์กับตราประทับของจีนในสมัยราชวงศ์จิ๋น  นอกจากการติดต่อกับอินเดียและพม่าแล้ว ชุมชนบ้านดอนตาเพชรนี้ยังติดต่อกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมซาหวิ่นแถบเวียดนามอีกด้วย เพราะได้พบตุ้มหูรูปเขาสัตว์ (Double-headed animal motif) หรือเรียกว่า "ลิงลิงโอ" (Lingling-O)  

 

นอกจากกลุ่มเครื่องประดับข้างต้นแล้ว โบราณวัตถุที่ทำจากสำริดบางชิ้นก็พบว่าเป็นของมาจากอินเดียคือ ภาชนะสำริดแบบมีปุ่มใต้ฐาน (Knobbed ware) นอกจากนี้แล้ว ยังอาจรวมถึงรูปไก่ลอยตัวเกาะบนคอน รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ภาชนะสำริดรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกระบอก ทรงขัน ทรงถังน้ำ ฝามีจุกแหลม ทัพพีสำริด

 

แต่ที่สำคัญคือ ภาชนะสำริดชิ้นหนึ่งเป็นรูปผู้หญิงเกล้ามวยผม หูยาว สวมเสื้อ พบแต่ส่วนบนของร่างกายผู้หญิง ภาชนะสำริดที่พบนี้แสดงถึงเทคโนโลยีการหล่อโลหะขั้นสูงด้วยวิธีการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง (Lost wax) เนื่องจากภาชนะที่พบมีเนื้อบางและมีการแกะลายที่สวยงาม จากการวิเคราะห์เนื้อโลหะสำริดทำให้ทราบว่ามีส่วนผสมของแร่ดีบุกสูง ซึ่งสะท้อนความจงใจที่อยากให้ภาชนะนี้มีสีทอง อนึ่ง ภาชนะสำริดแบบนี้พบทางภาคใต้ของไทยด้วยคือที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย เป็นไปได้ว่าภาชนะนี้ผลิตขึ้นภายในภูมิภาคนี้ เพราะพบน้อยแห่งในอินเดีย  (Glover and Bellina 2011) 

 

นอกจากสำริดแล้ว ในแหล่งโบราณคดีและในหลุมฝังศพยังพบเครื่องมือเหล็กอีกด้วย ซึ่งมีหลายแบบ ได้แก่ ขวานแบบบ้อง ขวานมีช่องเข้าด้าม มีดขอปากนก ใบหอกแบบมีบ้อง ใบหอกแบบมีกั่น หัวลูกศร หัวฉมวก ห่วงเหล็กรูปคล้ายกำไล มีด ตะปู เคียว (มีดขอ) เบ็ด เป็นต้น เหล็กพวกนี้น่าจะเป็นการผลิตขึ้นภายใน เพราะเครื่องมือบางชนิดเป็นรูปแบบท้องถิ่น เช่น มีดขอปากนก และเคียว อีกทั้งจากการวิเคราะห์โครงสร้างทางกายภาพของเหล็กเป็นผลึกแบบหยาบ มีขี้แร่ปน และมีลักษณะเป็นเหล็กอ่อน (Wrought iron)

 

ในแง่ของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย พบว่าที่บ้านดอนตาเพชรไม่มีพิธีกรรมฝังศพที่ชัดเจน พบกระดูกเพียงบางชิ้นส่วน บางส่วนพบในภาชนะสำริด และบางชิ้นพบร่วมกับสิ่งของที่แตกชำรุด เป็นไปได้ว่าชุมชนแห่งนี้คงมีพิธีกรรมปลงศพก่อนฝัง อาจเป็นการเผาศพ เพราะพบกลุ่มของเถ้ากระดูกกระจายตัวอยู่ในจุด ที่น่าสนใจคือ ทั้งชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เถ้ากระดูก และโบราณวัตถุต่างๆ วางอยู่ในระดับชั้นดินใกล้เคียงกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการตายในเวลาใกล้เคียงกัน หรือ มีการอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านดอนตาเพชรในเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังที่อื่น จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับศพพบว่า ผู้ตายบางคนมีฐานะความมั่งคั่งมากกว่าบุคคลอื่น สะท้อนว่าเกิดความแตกต่างทางชนชั้นของผู้ตายแล้วตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้ว

 

หมายเหตุ พิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ปักในฐานข้อมูลนี้คือ ตำแหน่งที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีในสมัยที่ ดร.เอียน โกเวอร์ ทำการขุดค้นร่วมกับ ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ 

 

 

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในเขตโรงเรียนวัดสาลวนาราม ถ้าเป็นไปได้ผู้ต้องการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ควรติดต่อล่วงหน้าไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลดอนตาเพชร ที่เบอร์โทร 034-680-448, 034-680-449 แต่ถ้าหากไม่ได้ติดต่อไปล่วงหน้า ควรไปเที่ยวระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ โดยไปสอบถามกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลดอนตาเพชรเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาช่วยเปิดพิพิธภัณฑ์

 

 

 

Glover, Ian and Bellina, Bérénice. "Ban Don Ta Phet and Khao Sam Kaeo: The Earliest Indian Contacts Re-assessed: Reflections on Cross-Cultural Exchange," in Early Interactions between South and Southeast Asia, edited by Pierre-Yves Manguin, A. Mani, Geoff Wade. India: New Dehli, 2011.