หน้าแรก แหล่งโบราณคดี เมืองท่าซีราฟ (Port of Siraf)

เมืองท่าซีราฟ (Port of Siraf)

ที่ตั้ง เมืองตาเฮรี (Taheri)
พิกัด 27.666 N, 52.342 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี ค.ศ. 850 ถึง 1300
แหล่งน้ำสำคัญ
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ เมืองท่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย การค้าทางไกล การค้าทางทะเล มุสลิม โบราณคดีใต้น้ำ จีน อิหร่าน สถานีการค้า
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

112

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

25 ก.พ. 2566

เมืองท่าซีราฟ (Port of Siraf)

team
  • ที่ตั้งของเมืองท่าซีราฟ
ชื่อแหล่ง : เมืองท่าซีราฟ (Port of Siraf)
ที่ตั้ง : เมืองตาเฮรี (Taheri)
พิกัด : 27.666 N, 52.342 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี ค.ศ. 850 ถึง 1300
แหล่งน้ำสำคัญ :
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : เมืองท่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย การค้าทางไกล การค้าทางทะเล มุสลิม โบราณคดีใต้น้ำ จีน อิหร่าน สถานีการค้า
ยุคสมัย : สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ศรีวิชัย
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 25 ก.พ. 2566

- ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355): เจมส์ โมริเออร์(James Morier) ได้เริ่มการสำรวจและขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเมืองท่าซีราฟ

 

- ค.ศ.1911-1962 (พ.ศ.2454-2505): มีผู้สนใจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้และเข้าไปเยี่ยมเยียนในพื้นที่หลายครั้งตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทั้ง เซอร์อาร์โนลด์ วิลสัน(Sir Arnold) เซอร์ออเรล เสติร์น(Sir Auriel Stein) คาร์ล ลินด์ เบอร์ก(Karl Linberg) แอล.วานเดน เบอร์กเฮ(L.Vanden Berghe) และอลาสแตร์ แลมบ์(Alastair Lamb)

 

- ค.ศ.1966 (2509): เดวิด ไวท์เฮ้าส์(David Whitehouse) เริ่มการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบครั้งแรก

 

ซีราฟ (Siraf) ถูกอ้างอิงครั้งแรกในงานเขียนของ อิบินะ อัล-ฟาฆีห์ (Ibn al-Faqih) ในค.ศ.850 (พ.ศ.1393) กล่าวถึงเรือซีราฟได้ทำการค้ากับอินเดีย ในขณะเดียวกันบันทึกของสุไลมาน (Sulaiman) ได้อ้างว่าสินค้าตะวันออกกลางที่นำไปขายที่จีนถูกนำมาจากเมืองบาสรา (Basra) สู่เมืองซีราฟ หลังจากนั้นจึงถูกจัดส่งไปยังสถานีการค้าบนชายฝั่งมะละบาร์ต่อไป นอกจากนี้ในงานเขียนของอาบู ซาอิด (Abu Zaid) ในค.ศ.877-915/6 (พ.ศ.1420-1458/9) ซึ่งเป็นพ่อค้าในเมืองท่าซีราฟยังได้กล่าวว่าพ่อค้าต่างๆในเมืองท่าแห่งนี้ได้เดินทางไปถึงทะเลแดงและชายฝั่งทะเลซานซิบาร์ (Zanzibar) อาบู ซาอิดยังได้กล่าวว่า แม้ยังปรากกฎการไหลเวียนของเงินตราจีนในซีราฟ แต่ปริมาณการค้าระหว่างกันลดน้อยลงไปมากหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวต่างชาติที่เมืองกว้างตุ้งในปีค.ศ.878 (พ.ศ.1421)

 

นักภูมิศาสตร์ในขณะนั้นคือ อิสตาครี (Istakhri) ได้ให้รายละเอียดและบทบาทของเมืองซีราฟในช่วงก่อนค.ศ.950 (พ.ศ.1493) ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญรองจากเมืองชีราช (Shiraz) แม้ตำแหน่งที่ตั้งจะดีที่สุดบนชายฝั่งทะเล แต่ขาดแคลนเครื่องบริโภค ทั้งน้ำดื่ม ผัก และผลไม้ ซึ่งต้องนำมาจากที่ราบแห่งแจมม์ (The Plain of Jamm) ภายหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีค.ศ.977 (พ.ศ.1520) ซีราฟเสียหายเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมโทรมด้านการค้าของเมือง เนื่องจากพ่อค้าได้ย้ายไปยังตลาดแห่งอื่น เมื่อยาฆุต (Yaqut) ได้เดินทางเข้ามาในเมืองนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 (พุทธศตวรรษที่ 19) ได้บรรยายว่าซีราฟเหลือเพียงซากปรักหักพัง มีเพียงคนจนที่อาศัยอยู่ และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงสิ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่คือ มัสยิดที่เป็นเสาไม้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองท่าซีราฟได้ล่มสลายโดยสมบูรณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 (พุทธศตวรรษที่ 19)

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าเมืองท่าซีราฟสามารถแบ่งการใช้งานได้ 3 ระยะ

1. ช่วงการสร้างเมืองโดยกษัตริย์อัรดาชิร์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซัซาเนี่ยน และกษัตรย์องค์ต่อไปพยายามใช้เมืองซีราฟควบคุมพื้นที่บริเวณอ่าวเปอร์เซีย และชายฝั่งทะเลอะราเบี้ยน

2. พ่อค้าชาวตะวันตกได้เข้าร่วมทำการค้าในมหาสมุทรอินเดีย โดยใช้เมืองท่าอินเดียและศรีลังกาเป็นตัวกลางในการติดต่อการค้ากับเอเชียตะวันออกคือจีน และเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 8 (พุทธศตวรรษที่ 15) พ่อค้าชาวเอเชียตะวันตกจึงเดินทางทางทะเลเข้าไปค้าขายกับจีนโดยตรง โดยผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองท่าซีราฟเจริญถึงขีดสุด ในฐานะที่รองรับสินค้าจากเอเชียตะวันออกแล้วจึงกระจายสู่เมืองต่างๆภายในแผ่นดินใหญ่

3. ภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 10 (พุทธศตวรรษที่ 16) เป็นต้นไปเมืองท่าซีราฟค่อยๆล่มสลายลงจนหมดบทบาทลง

 

 

 

 

วันวิสาข์ ธรรมานนท์. "หลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียตะวันตกก่อนพุทธศตวรรษที่ 16". วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบันฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2555.