หน้าแรก แหล่งโบราณคดี เมืองโบราณซับจำปา

เมืองโบราณซับจำปา

ที่ตั้ง หมู่ 7 บ้านคูเมือง ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
พิกัด 15.052222 N, 101.243889 E
อายุสมัย ระหว่าง 3,000 ถึง 500 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ แม่น้ำป่าสัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ จังหวัดลพบุรี ตุ๊กตาคนจูงลิง ธรรมจักร ศาสนาพุทธ คูน้ำคันดิน
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

96

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

2 พ.ย. 2565

เมืองโบราณซับจำปา

team
ชื่อแหล่ง : เมืองโบราณซับจำปา
ที่ตั้ง : หมู่ 7 บ้านคูเมือง ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
พิกัด : 15.052222 N, 101.243889 E
อายุสมัย : ระหว่าง 3,000 ถึง 500 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ : แม่น้ำป่าสัก
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : จังหวัดลพบุรี ตุ๊กตาคนจูงลิง ธรรมจักร ศาสนาพุทธ คูน้ำคันดิน
ยุคสมัย : อยุธยา สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ทวารวดี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 2 พ.ย. 2565

- ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513): หน่วยเจ้าหน้าที่ปราบศัตรูพืช กระทรวงเกษตร นำคณะสำรวจจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยศิลปากรที่ 1 จังหวัดลพบุรี มาสำรวจที่แหล่งโบราณคดี ต่อมาจึงรับรู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน

 

- ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514): คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มขุดทดสอบภายในเมืองโบราณแห่งนี้ ร่วมกับขุดทดสอบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียง

 

- ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516): วีรพันธ์ มาไลย์พันธ์ ควบคุมการขุดทดสอบทางโบราณคดี และเขียนบทความ ซับจำปา พิมพ์ในวารสารคณะโบราณคดี

 

- ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523): ควอริทซ์ เวลส์ เขียนบทความเรื่องการค้นพบ (เมือง) ทวารวดีแห่งใหม่ และข้อเปรียบเทียบกับเขมร ตีพิมพ์ในวารสารของสยามสมาคมใน พ.ศ 2523

 

- ค.ศ.1981-1982 (พ.ศ.2524–2525): ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ได้ศึกษาหลักฐานโบราณคดีที่ได้จากการขุดทดสอบเมื่อ พ.ศ 2514

 

- ค.ศ.2002-2004 (พ.ศ.2545–2547): รองศาสตราจารย์ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ทำการสำรวจ และขุดค้นภายใต้โครงการ พัฒนาการของความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ และสังคมจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในเขตที่สูงทางตะวันออกของภาคกลางของประเทศไทย

 

- ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549): สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี

 

- ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553): ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อปฏิบัติงานภาคสนามให้แก่นักศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณซับจำปา ตั้งอยู่บนเนินดินสูงของชายขอบที่ราบภาคกลาง ต่อกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิตั้งอยู่บนพื้นที่ลอนลูกคลื่นลักษณะคล้ายเนินดินสูง ลักษณะทางกายภาพเป็นเมืองโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ทำจากคันดินอัดแน่นสูง 10 เมตรจากพื้นที่คูเมือง มีขนาดกว้าง 16 เมตร มีลักษณะทางกายภาพกลมมนคล้ายรูปหัวใจ ภายในเมืองมีเนินโบราณสถาน 3 เนิน ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกของเมือง จากการสำรวจบนผิวดินสมารถพบโบราณวัตถุจำพวกเศษภาชนะดินเผาปรากฎกระจายอยู่ทั่วไป

 

โดยองค์กรบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้สำรวจ รวบรวมข้อมูล และจัดทำบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่พบโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่พบในเขตพื้นที่เมืองโบราณซับจำปา นับได้รวมแล้ว 17 แหล่งเป็นอย่างน้อย อันแสดงถึงกิจกรรมการอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ที่ต่อเนื่องยาวนาน และหนาแน่น

 

ลำดับอายุสมัยของการอยู่อาศัยที่แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณซับจำปา สามารถจำแนกได้ 3 สมัย

 

ยุคสำริดตอนปลาย ( ประมาณ 3000 – 2,900  ปีมาแล้ว)

เป็นการอยู่อาศัยสมัยแรก หลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ถึงการอยู่อาศัยในช่วงสมัยนี้ได้แก่ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผาเนื้อดินทรงพานทาน้ำเคลือบสีแดง และภาชนะดินเผาหม้อกลมลายเชือกทาบ และขวานสำริดแบบมีบ้อง เครื่องประดับประเภทกำไลข้อมือ ลูกปัด และต่างหู จากหินมาร์ล หินอ่อน เปลือกหอยมือเสือ งานช้าง กระดูกสัตว์ ซึ่งพบในบริบทของอุทิศร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นการประกอบพิธีกรรมฝังศพ นอกจากนี้ยังพบ เบี้ยดินเผา แวดินเผา เบ้าหลอมโลหะ พบปริมาณกระดูกสัตว์ประปราย

ข้อสังเกตบางประการ คือขวานสำริดมีบ้องมีลักษณะ และขนาดคล้ายกับที่พบในเขตอำเภอสำโรง จังหวัดลพบุรี อย่างไรก็ตามการกำหนดระยะเวลาการอยู่อาศัยในระยะนี้ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถกำหนดอายุโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์

 

สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น / ยุคเหล็ก (ประมาณ 2,300 – 1,500 ปีมาแล้ว) 

เป็นชั้นอยู่อาศัยที่ต่อเนื่องจากระยะแรก หลักฐานโบราณคดีที่บ่งชี้ถึงการอยู่อาศัยในระยะนี้ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อดินผิวดำเรียบปากตรงปลายมน และภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ลูกปัดกระดูกสัตว์ ซึ่งมีปริมาณหนาแน่นกว่าการอยู่อาศัยช่วงแรก

ในช่วงสมัยนี้เริ่มพบโบราณวัตถุที่ทำจากโลหะมากขึ้น เช่น เครื่องประดับสำริด เช่น กำไล และแหวน ลูกกระพรวดสำริด และตะกรัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการผลิตสำริดเพื่อใช้ในครัวเรือน และการติดต่อกับชุมชนบริเวณหุบเขาวงพระจันทร์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทองแดงขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องมือเหล็กรูปทรงมีด ใบหอก ลูกศร และขวานเหล็กทรงคล้ายตัวนกซึ่งมีลักษระใกล้เคียงกับที่พบสที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว และโบราณวัตถุประเภทตะกั่ว ได้แก่ ตุ้มถ่วงแห และแท่งตะกั่วทรงกลม

จากการเปรียบเทียบค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ พบว่าชุมชนในช่วงเวลานี้อยู่ร่วมสมัยกับชุมชนในแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค บ้านดอนตาเพชร และ แหล่งโบราณคดีอังกอบอเร ในกัมพูชา และแหล่งโบราณคดีของวัฒนรรม ปยู(Pyu) ในพม่า

 

สมัยทวารวดี ( พ.ศ 1200-1500)

เป็นชั้นที่สันนิษฐานว่าอยู่อาศัยยาวนานที่สุด โดยพบโบราณวัตถุค่อนข้างหนาแน่น โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินสีส้มลายขูดขีด และลายกดเศษภาชนะดินเผารูปดอกไม้ในกรอบสี่เหลี่ยม ประทับ พวยกาตกแต่งด้วยลายเขียนสีแดงสลับสีขาว มีลายกดประทับลายดอกไม้ (คล้ายคลึงกับที่พบจากแหล่งโบราณคดีศรีมโหสถ) ท่อนหินบด รวมไปถึงลูกปัดแก้ว ในสมัยนี้ยังเริ่มพบร่องรอยของศิลปกรรมที่พบได้ในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับชุมชนทวารวดีแหล่งอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกัน

ในระยะนี้ยังพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ธรรมจักร และศิลาจารึก ซึ่งหลักฐานที่พบที่ซับจำปาชี้ให้เห็นถึงยุคแรกที่รับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยพระพุทธรูปที่พบที่เมืองโบราณซับจำปานั้นมีทั้งที่สลักจากหิน และดินเผา โดยลักษณะทางศิลปะกรรมใกล้เคียงกับลักษณะที่นิยมทำในศิลปกรรมทวารวดีตอนปลาย หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนธรรมจักรจำนวน 4 ชิ้น สลักลวดลายดอกไม้สลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งเป็นลายที่แพร่หลายในศิลปะคุปตะของอินเดีย

นอกจากโบราณวัตถุแล้ว การขุดค้นในปี 2549 ยังพบร่องรอยของโบราณสถานในศาสนาพุทธจำนวน 2 แห่ง โดยพบเป็นฐานอาคารก่อด้วยอิฐ จากหลักฐานแวดล้อมสันนิษฐานว่าเป็นฐานสถูป จากการขุดค้นเนินโบราณสถานหมายเลข 1 ยังพบชิ้นส่วนตุ๊กตาคนจูงลิง ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบร่วมกันกับแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีอีกหลายแห่งในภาคกลาง

ในช่วงสมัยนี้ยังเริ่มพบร่องรอยของหลักฐานที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร 1 ในชิ้นส่วนธรรมจักรพบจารึกคาถาจากปฎิจจสมุปบาทสูตร เป็นภาษาบาลี โดยใช้ตัวอักษรปัลลวะ เช่นเดียวกันกับเสาธรรมจักรรูปแปดเหลี่ยมจำนวน 3 ต้น ซึ่งสลักอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีเช่นกัน โดยทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาท อาทิ หลักอริยสัจจ์ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฎิจจสมุปบาทสูตร และ พุทธวจนะ ปฐมพุทธอุทานซึ่งเป็นจารึกพุทธวจนะสำนวนเดียวที่เกาแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ซึ่งหลักฐานลายลักษณ์อักษรเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีในชุมชนเมืองโบราณซับจำปาในสมัยนั้น

หลังจากพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองโบราณซับจำปาไม่พบร่องรอยหลักฐานของการสืบต่อเป็นชุมชนหลังจากนั้น โดยพบร่องรอยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น

 

-  

มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ซับจำปา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ประชาชนในพื้นที่ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร) โดยเกิดจากการเห็นความสำคัญของทรัพยากรทางโบราณคดีในพื้นที่

 

รพล นาถะพินธุ. ซับจำปา : พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จังหวัดลพบุรี. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด. 2558.  

 

สว่าง เลิศฤทธิ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ : พัฒนาการของความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ และสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในเขตที่สูงทางตะวันออกของภาคกางของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2547.

 

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล. “การศึกษาปัจจัยในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณซับจำปาวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศษสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2547.

 

อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล. บุกเมืองโบราณ ′ซับจำปา′ เเหล่งรวยอารยธรรม′ทวารวดี′. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1400