หน้าแรก แหล่งโบราณคดี วัดพระปรางค์สามยอด

วัดพระปรางค์สามยอด

ที่ตั้ง ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
พิกัด 14.802722 N, 100.614022 E
อายุสมัย ระหว่าง ปี พ.ศ. 1700 ถึง 1750
แหล่งน้ำสำคัญ แม่น้ำลพบุรี
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ เขมรโบราณ จังหวัดลพบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

56

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

27 ต.ค. 2565

วัดพระปรางค์สามยอด

team
ชื่อแหล่ง : วัดพระปรางค์สามยอด
ที่ตั้ง : ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
พิกัด : 14.802722 N, 100.614022 E
อายุสมัย : ระหว่าง ปี พ.ศ. 1700 ถึง 1750
แหล่งน้ำสำคัญ : แม่น้ำลพบุรี
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : เขมรโบราณ จังหวัดลพบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ยุคสมัย : เขมรโบราณ
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 27 ต.ค. 2565

- ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 904 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479

- ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) ได้กำหนดเขตที่ดินให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545

 พระปรางค์สามยอด ตั้งอยู่บนเนินดินด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟใกล้กับศาลพระกาฬ จากหลักฐานและลักษณะทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวค.ศ.1182-1217 (พ.ศ.1725–1760) หรือในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อพระองค์ทรงส่งพระราชโอรสมาปกครองยังเมืองละโว้ (ลพบุรี) ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นปราสาทขอม 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่างๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ในส่วนฐานล่างของพระปรางค์เป็นฐานเขียงใหญ่ รองรับฐานบัวลูกฟักที่ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ท้องไม้ประดับด้วยลูกฟัก ลายเฟื่องหันหัว และลายเฟื่องอุบะ . จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม อธิบายถึงลักษณะของฐานปราสาทแบบนี้ว่าเป็นลักษณะของศิลปะเขมร ซึ่งแสดงถึงความเป็นเรือนชั้น หรือฐานันดรสูง ซึ่งเป็นลักษณะของฐานที่ปรากฎมากในปราสาทเขมรในศิลปะบายน ภายในปราสาทประธานเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ณ ตำแหน่งรูปเคารพประธานของปราสาท (ปัจจุบันพระพุทธรุปองค์นี้ถูกเก็บรักษาอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งนอกจากพระพุทธรูปองค์ประธานแล้วยังพบพระพุทธรูปนาคปรกองค์อื่น ๆ ในปราสาทเช่นกัน ในส่วนรูปเคารพอื่น ๆ ได้แก่ พระอาทิพุทธะ พระอวโลกิเตศวร เป็นต้น

 

 จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้ เพื่อประดิษฐานรูปพระวัชรสัตว์นาคปรก พระโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พุทธศาสนาลัทธิวัชรยานเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอาณาจักรเขมร เทียบได้กับศาสนาประจำอาณาจักรภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระองค์ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีศักดิ์เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมรด้วย แต่ต่อมาหลังการล่มสลายของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในอาณาจักรเขมร พระปรางค์สามยอดจึงได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาท และถูกเชื่อมต่อกับปราสาทในสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองลพบุรี ในช่วงระยะเวลาที่เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองลพบุรีเกือบตลอดรัชกาล

  เปิดให้เข้าชม ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ ลิง ไม่ควรสวมใส่สิ่งของมีค่า และถืออาหารเข้าไป

ณัฐพล อาจหาญ และวัชชพันธ์ บุญณลัย. "พระปรางค์สามยอด." รายงานการศึกษาค้นคว้าประกอบการศึกษากระบวนวิชา 116400 ศิลปะในประเทศไทยสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 สาขาศิลปะไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2551.

 

ประสงค์ เอี่ยมอนันต์. “การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ เมืองเก่าลพบุรีวารสารหน้าจั่ว. ฉบับที่ 11. 2534.

 

พิริยะ ไกรฤกษ์. อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม 1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์. 2544.