หน้าแรก แหล่งโบราณคดี คอกช้างดิน

คอกช้างดิน

ที่ตั้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
พิกัด 14.350951 N, 99.858836 E
อายุสมัย ระหว่าง 1100 ถึง 1600 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ พุม่วง และจระเข้สามพัน
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ ลูกปัด ไศวนิกาย ทวารวดี จังหวัดสุพรรณบุรี พราหมณ์ ศิวลึงค์ เหรียญทวารวดี
แกลเลอรี

จำนวนผู้เข้าชม

77

วันที่เผยแพร่ข้อมูล

20 มี.ค. 2566

คอกช้างดิน

team
  • โบราณสถานหมายเลข 12
ชื่อแหล่ง : คอกช้างดิน
ที่ตั้ง : อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
พิกัด : 14.350951 N, 99.858836 E
อายุสมัย : ระหว่าง 1100 ถึง 1600 ปีมาแล้ว
แหล่งน้ำสำคัญ : พุม่วง และจระเข้สามพัน
คำสำคัญ/ป้ายกำกับ : ลูกปัด ไศวนิกาย ทวารวดี จังหวัดสุพรรณบุรี พราหมณ์ ศิวลึงค์ เหรียญทวารวดี
ยุคสมัย :
วันที่เผยแพร่ข้อมูล : 20 มี.ค. 2566

- ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502): เมืองโบราณคอกช้างดินได้รับการสำรวจโดย มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งในเวลานั้นสันนิษฐานว่าพูนดินวงกลมนั้นอาจเป็นคอกช้างสมัยโบราณ ต่อมานายพอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) เสนอว่าเมืองอู่ทองอาจเป็น "จินหลิน" และเชื่อว่าบริเวณคอกช้างดินเป็นเพนียดคล้องช้าง

 

- ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509): นายสมศักดิ์ รัตนกุล ภัณฑารักษ์ประจำหน่วยศิลปากรที่ 2 ได้ขุดค้นที่โบราณสถาน 2 แห่ง จึงได้พบภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินทวารวดีประทับลายสังข์จำนวนมากที่โบราณสถานหมายเลข 18 และพบมุขลึงค์ที่โบราณสถานหมายเลข 5 พร้อมยังเสนอว่า คอกช้างดินอาจเป็นสระเก็บน้ำไม่ใช่เพนียดคล้องช้าง

 

- ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540): จึงได้มีการทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานคอกช้างดิน และยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาพิเศษตามข้อเสนอของนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี หลังจากนันจึงมีการศึกษาและอนุรักษ์เมืองแห่งนี้ในปีงบประมาณ 2540 โดยในเวลานัน นายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ ได้เป็นผู้ขุดค้นโบราณสถานต่างๆ ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 3 และ 7

 

- ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544): ได้ทำการขุดค้นเพิ่มเติมที่โบาณสถานหมายเลข 6 ซึ่งได้พบโบราณวัตถุหลายประเภทโดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่ไม่ต่างจากโบราณสถานแห่งอื่นๆ ผลจากการสำรวจในในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้พบโบราณสถานทั้งหมด 20 กลุ่มใหญ่ๆ ในเขตคอกช้างดิน

 

- ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545): จึงได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง โบราณคดีคอกช้างดิน 

 

 

 

 

กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน เป็นเมืองของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ร่วมสมัยกับเมืองอู่ทอง อาจมีอายุก่อนทวารวดี-ทวารวดี ภายในเมืองมีคันดินทำเป็นรูปเกือบวงกลมอยู่จำนวน 5 แห่ง แนวคันดินดังกล่าวนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น "คอกช้าง" จึงเรียกว่า "คอกช้างดิน" แต่ความจริงแล้ว เป็นแนวคันดินของสระน้ำ (คล้ายบารายแต่ไม่เป็นสี่เหลี่ยมแบบวัฒนธรรมเขมร) เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีของพื้นที่เป็นหิน กันดารน้ำ จึงได้มีการสร้างสระน้ำขึ้นมาหลายจุด เพื่อกักน้ำจากลำธารพุม่วงที่ไหลมาจากเขาคอก ภายในเขตเมืองยังพบโบราณสถานสร้างด้วยอิฐ หิน และศิลาแลงอีกหลายแห่ง สะท้อนว่าเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น

 

นอกจากนี้โบราณสถานแต่ละแห่งยังพบโบราณวัตถุที่น่าสนใจอีกหลายประเภท ตัวอย่างเช่น โบราณสถานหมายเลข 12 ยังได้พบเหรียญอาหรับ 1 เหรียญ ผลิตในรัชสมัยคอลีฟะฮ์ อัล มันซูร (ค.ศ.754-775/พ.ศ.1297-1318) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ อีกทั้งยังพบแท่นหินบดยา เศษภาชนะดินเผาอีกด้วย

 

โบราณสถานที่คอกช้างดินหมายเลข 7 เป็นโบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลงผสมก้อนหินปูน หลงเหลือเพียงฐานอาคารเตี้ยๆ ด้านทิศตะวันออกทำเป็นมุขทางเข้า จากการขุดค้นได้มีการพบภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินขนาดเล็กจำนวน 9 เหรียญ ในจำนวนนี้มีจารึก "ศรีทวารวดี ศวรปุณย" แปลว่า "การบุณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี" จำนวน 3 เหรียญ นอกจากนี้ยังพบแท่งเงินตัดอีกหลายชิ้น ซึ่งเป็นก้อนวัตถุดิบสำหรับทำเงินเหรียญ หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างคือ พบชิ้นส่วนไหเคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์ถัง ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว และแผ่นศิลาจำหลักอีกด้วย 

 

จากการขุดค้นแหล่งที่อยู่อาศัยริมน้ำตกพุม่วงทำให้พบถ่านจำนวนหนึ่ง จึงส่งไปกำหนดายุที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อ ค.ศ.1999(พ.ศ.2542) โดยจุดดังกล่าวพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง และเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีร่วมด้วย ผลการกำหนดอายุได้ 1650+/-220 ปีมาแล้ว ซึ่งผู้ขุดค้นได้กำหนดอายุโดยเลือกค่าบวกลบที่มีอายุน้อยให้สอดคล้องกับโบราณวัตถุอื่นๆ จึงกำหนดให้อยู่ที่ ค.ศ.569 (พ.ศ.1112) หรือคริสต์ศตวรรษที่ 6 (พุทธศตวรรษที่ 12)

 

สามารถไปติดต่อสอบถามข้อมูลได้จากวนอุทยานแห่งชาติพุม่วงได้ บริเวณดังกล่าวมีแผนที่แสดงตำแหน่งของโบราณสถาน และได้ทำเส้นทางสำหรับเดินไปยังโบราณสถานต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรไปคนเดียว เพราะพื้นที่ค่อนข้างเปลี่ยว

ภัทรพงษ์  เก่าเงิน. โบราณคดีคอกช้างดิน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, สำนักพิมพ์ ฟันนี่ พับบลิชชิ่ง, 2545. อ่านออนไลน์ได้ที่

 คลิกที่นี่